มหัศจรรย์
เอื้องอัญมณี
กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก
นิตยสารอนุรักษ์ | ฉบับที่ 36
เรื่อง/ภาพ: หัสชัย บุญเนือง
สายฝนยังคงกระหน่ำต่อเนื่อง ความชื้นในอากาศโอบกอดเราไว้แน่น มองไปบนยอดเขาหินปูน หมอกหนาคลอเคลียไม่ห่างหายสายน้ำลำธารเปลี่ยนจากความใสเอื่อยช้าเป็นสีนน้ำตาลจางๆ และเร่งไหลเร็วขึ้น ก้อนหินริมธารถูกห่มคลุมด้วยผืนมอสสีมรกตชูก้านอับสปอร์ห่อหุ้มด้วยหยดน้ำใสพร่างพราว
มื้อเช้าง่ายๆ ผ่านไป กาแฟแก้วที่สองกำลังจะหมด ทว่าอากาศยังขมุกขมัว คนนำทางมาพร้อมอุปกรณ์และอาหารสำหรับพักค้างแรมบนเขา เราเตรียมตัวมาอย่างดีสำหรับงานนี้ เพราะกว่าจะมีโอกาสได้เจอ ‘เธอ’ นั้นไม่ง่ายเลย ตัวผมเองใช้เวลาถึง ๑๒ ปีสืบเสาะค้นหาตามแหล่งต่างๆ ในผืนป่าสุราษฎร์ธานี จนค่อนข้างแน่ใจว่าครั้งนี้เรามาถูกที่ถูกเวลา
เดิมที คณะสำรวจปรง (Cycadaceae) ซึ่งมีคุณพูนศักดิ์ วัชรากร ได้เก็บตัวอย่างกล้วยไม้ขนาดจิ๋ว จากเขาหินปูนบริเวณนี้แล้วนำมาปรึกษากับคุณชนินทร์ โถรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้เมืองไทย จากนั้นได้ศึกษาเพิ่มเติมร่วมกับ ดร.พัฒน ทวีโภค แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคาดว่าน่าจะเป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก ต่อมา รศ.ดร.อบฉันท์ ไทยทอง แห่งภาควิชาพฤกษศาสตร์จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและศึกษาก่อนส่งต่อไปยัง ดร.กันนาร์ ไซเดนฟาเดน อดีตเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ผู้บุกเบิกการสำรวจกล้วยไม้ป่าในประเทศไทย ท่านได้เปรียบเทียบกับตัวอย่างอื่นๆ จนสามารถสรุปได้ว่านี่คือกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก และให้ชื่อว่า Corybasecarinatus K.Anker & Seidenf หรือ “เอื้องอัญมณี” เป็นชื่อสุดท้ายที่ ดร.ไซเดนฟาเดน ตั้งให้กล้วยไม้ชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย