สายฝนก็เริ่มโปรยลงมาอีก และต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงหนักเบาสลับกันไป การเดินเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไม่อาจหลบเลี่ยงลมฟ้าอากาศ เราทำได้เพียงป้องกันให้ดีเท่านั้นอุปกรณ์ถ่ายภาพซุกอยู่ในกระเป๋ากันน้ำ รอเวลานำออกมาเก็บภาพในจังหวะเหมาะ หลายครั้งที่เจอกับดอกไม้ กล้วยไม้และสัตว์เล็กๆ ที่น่าสนใจ แต่สายฝนไม่เป็นใจจึงต้องผ่านเลย
กลางสายฝน ผมพบดอกไม้หายากของเมืองไทยขึ้นโดดเด่นอยู่กลางทางเดิน ‘พิศวง’ (Thismia gardneriana) หรือพืชกินซากเป็นพืชในสกุล Thismia Griff ที่ได้ชื่อเช่นนี้เนื่องจากรูปทรงของดอกดูแปลกประหลาดต่างจากพืชทัว่ ไป จนชวนให้พิศวงสงสัยว่าใช่ดอกไม้หรือไม่… แต่เดิมมันถูกจัดอยู่ในวงศ์ย่อย Thismieaeซึ่งเป็นหนึ่งในวงศ์ย่อยของวงศ์หญ้าข้าวก่ำ (Burmanniaceae) ทว่าในปัจจุบันมีการศึกษาในระดับโมเลกุลและกระบวนวิวัฒนาการทำให้ทราบว่าพิศวงไม่ได้เป็นญาติใกล้ชิดกับหญ้าข้าวก่ำ แต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพืชในวงศ์กลอย (Dioscoreaceae) และวงศ์ค้างคาวดำ (Taccaceae) ทำให้มันได้รับการยกระดับขึ้นเป็นวงศ์พิศวง แทนที่จะเป็นวงศ์ย่อยพิศวงในวงศ์หญ้าข้าวก่ำเช่นในอดีต
สำหรับพืชในวงศ์นี้ปัจจุบันมีรายงานไว้ทั้งสิ้น ๖ สกุล ทั่วโลกมีประมาณ ๖๕ ชนิด พืชวงศ์นี้ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้เนื่องจากไม่มีคลอโรฟิลล์ ในอดีตเรียกพืชกลุ่มนี้ว่า “พืชกินซาก (Saprophyte)” แท้จริงแล้ว มันไม่ได้ย่อยหรือกินซากโดยตรงแต่อาศัยเชื้อราที่อยู่ในต้นและรอบๆ ช่วยย่อยซากใบไม้กิ่งไม้ให้
เราต้องไปต่ออีกไกลเพื่อตามหาเอื้องอัญมณีที่มุ่งหวังไม่ว่าทางลาดลื่นโคลน โขดหินปูนแหลมคมหรือหุบห้วยผาชัน เราก็ตะกายป่ายปีนไปสำรวจค้นหา วันแรกพบกลุ่มเล็กๆ ยังไม่มีดอกก่อน แล้วได้เจอกับดอกบาน ๓ ดอก ทำให้ใจชื้นขึ้นมาทั้งที่เหนื่อยล้าเต็มที