Saturday, November 2, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติไทย Geopark (ตอน ๒)

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 58
เรื่อง/ภาพ: ชาธร โชคภัทระ

         จากฉบับที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับ “อุทยานธรณี” หรือ Geopark ไปแล้ว ว่าเป็นแหล่งธรณีวิทยาพิเศษ แปลกตา หรือมีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลนิเวศธรรมชาติ โดยมีการแบ่งอุทยานธรณีออกเป็น ๒ ประเภทคือ อุทยานธรณีโลก (Global Geopark) และอุทยานธรณีแห่งชาติ (National Geopark) ซึ่งปัจจุบันเมืองไทยเรามีอุทยานธรณีโลกอยู่ ๑ แห่งคือ อุทยานธรณีโลกสตูล” และมี อุทยานธรณีแห่งชาติอีก ๖ แห่ง ฉบับที่นี้เราจึงจะเก็บกระเป๋าออกเดินทางอีกครั้ง ไปเจาะลึกอุทยานธรณีแห่งชาติของไทยในหลายภูมิภาคร่วมกัน

มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติไทย Geopark (ตอน ๒)

         เริ่มต้นที่ภาคเหนือตอนล่าง “อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก” จังหวัดตาก ซึ่งเป็นข่าวดังระดับประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ เพราะหนังสือ Guinness World Record ได้ให้การรับรองว่า ที่นี่มีไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก คือยาวถึง ๖๙.๗๐ เมตร เทียบเท่าความสูงตึก ๒๐ ชั้น ค้นพบในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย ทว่าจริงๆ แล้วขอบเขตของอุทยานธรณีนี้กว้างขวางถึง ๔ อำเภอคือ อำเภอเมืองตาก สามเงา บ้านตาก และวังเจ้า รวมเนื้อที่ ๕,๖๙๑ ตารางกิโลเมตร จุดเด่นคือการสัมผัสเรียนรู้ว่าต้นไม้ในครั้งบรรพกาลเมื่อหลายล้านปีก่อนกลายเป็นหินได้อย่างไร

ไม้กลายเป็นหิน ตาก

ที่นี่ค้นพบไม้กลายเป็นหิน ๘ ท่อน อายุกว่า ๘๐๐,๐๐๐ ปี ซึ่งแต่ละท่อนยาวและใหญ่มาก ทุกท่อนเป็นต้นไม้ต่างชนิดกัน บ่งบอกว่าสภาพเคยเป็นป่าใหญ่ที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืชจำนวนมาก สำหรับกระบวนการไม้กลายเป็นหิน ในทางวิชาการมีศัพท์เรียกว่า Petrified Wood เริ่มจากต้นไม้ตายถูกทับถมด้วยตะกอนกรวดหินดินทราย ขณะที่ต้นไม้เริ่มสลาย น้ำใต้ดินพาเอาสารละลายซิลิก้า เช่น จากเถ้าถ่านภูเขาไฟ เข้าแทนที่โครงสร้างเซลล์เนื้อไม้ กระบวนการนี้ค่อยๆ ดำเนินไปเป็นร้อยล้านปี กระทั่งสารละลายซิลิก้าตกตะกอนแข็งตัว จนเกิดไม้กลายเป็นหิน


รอยเท้าไดโนเสาร์ เพชรบูรณ์

         เดินทางไปต่อกันที่รอยต่อภาคเหนือและอีสานตอนบน “อุทยานธรณีเพชรบูรณ์” จังหวัดเพชรบูรณ์ มีความพิเศษในแง่การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่ได้รับผลกระทบจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอนุทวีป อินโด-ไชน่า และชาน-ไทย เมื่อประมาณ ๓๕๐-๓๐๐ ล้านปีก่อน จนปรากฏร่องรอยทางธรณีวิทยาอันทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นฟอสซิลหอยต่างๆ ปะการังโบราณ รวมถึงฟิวซูลินิด (Fusulinids) เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เคยอาศัยอยู่ในทะเลบรรพกาล แต่สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว นอกจากนี้ยังรวมแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติไว้ด้วย อาทิ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ถ้ำบันทึกโลก ที่บ้านห้วยลาด ตำบลหลักด่าน อำเภอน้ำหนาว จัดเป็นถ้ำยาวอันดับ ๓ ของไทย ภายนอกเป็นเขาหินปูน อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๙๕๕ เมตร ในถ้ำมีหินงอก หินย้อย และโถงน้อยใหญ่รูปลักษณ์แปลกตา บ้างเป็นหินรูปช้าง รูปน้ำตก รูปผ้าม่าน และรูปคน ฯลฯ


About the Author

Share:
Tags: ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม / Geopark / ธรรมชาติไทย / กรมทรัพยากรธรณี / อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก / อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ / อุทยานธรณีโคราช / อุทยานธรณีขอนแก่น / อุทยานธรณีชัยภูมิ อบต.ทุ่งนาเลา /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ