นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 1
เรื่อง/ภาพ: ธรณ์ ธำรงนาวสวัสดิ์
หลายคนบอกผมว่า ผมเป็นนักอนุรักษ์หัวก้าวหน้า พูดเกี่ยวกับทะเลด้วยมุมมองของชาวกรุง ผมได้เพียงแค่ยักไหล่ บอกว่าช่วยไม่ได้ เพราะผมเกิดริมถนนเอกมัยและโตที่นั่นมาจนทุกวันนี้ บ้านผมห่างจากแหล่งแฮงเอาต์ของคนกรุงเพียงไม่กี่ก้าว ทุกค่ำคืนวันศุกร์-เสาร์ ผมเดินไปสังเกตการณ์หน้าผับบาร์เหล่านั้นเป็นประจำ แสงสีกับผมจึงไม่เคยห่างกัน
เขาใหญ่ในความทรงจำ ช่างต่างจากเขาใหญ่ในทุกวันนี้ วันที่ถนนเต็มไปด้วยรถ ในทุ่งเต็มไปด้วยเต็นท์ฝูงกวางยังคงอยู่ แต่ใช้ชีวิตอยู่ริมถังขยะ สำหรับเสือ…ผมไม่เห็นมานานแล้ว และคนอื่นก็ไม่เห็นเหมือนกันเสือโคร่งหมดป่าเขาใหญ่ไปแล้ว
แต่ในขณะเดียวกัน ผมโตมากับคุณพ่อที่ทำงานเกี่ยวกับธรรมชาติคุณแม่ที่รักการท่องเที่ยวเหลือหลาย ชีวิตในวัยเด็กของผมจึงอยู่ในเมืองบ้าง ริมทะเลบ้าง อยู่ในป่าบ้าง สลับกันไปมา ผมเคยเห็นเขาใหญ่ในวันที่มีเสือมากกว่า 50 ตัว เคยไปเกาะสุรินทร์สิมิลันตั้งแต่ก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เข้าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ตั้งแต่อายุแค่ 6-7 ขวบ ผมจึงเป็นเด็กเมือง-เด็กป่า-เด็กเล มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ผมต้องบอกเรื่องนี้ เพราะแนวคิดของผมชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไรผมไม่ได้เล่าเรื่องป่าให้คนรักป่าฟัง ผมไม่ได้พูดเรื่องทะเลให้คนทะเลฟังเป้าหมายหลักของผมคือพูดเรื่องป่าเรื่องทะเลให้คนเมืองฟัง เพราะธรรมชาติเมืองไทยจะอยู่ไม่ได้หากคนในเมืองไม่สนใจป่าห่วงหาทะเล
และการอนุรักษ์มิใช่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแค่เพียงในป่าหรือกลางมหาสมุทร การอนุรักษ์เกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ถนนเอกมัยหน้าบ้านผมถนนที่ครั้งหนึ่งเคยมีคลอง 2 ข้างทาง มีปลาหางนกยูงและปลากริมให้ผมไปช้อนเล่นเป็นประจำ หรือแม้แต่คลองสาธร ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ริมตลิ่ง ผมลงไปที่ท่าน้ำเพื่อลอยกระทงทุกวันเพ็ญเดือนสิบสอง…
เมืองของผมเปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้ ยิ่งไปเห็นอีกหลายบ้านหลายเมืองที่เคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก ผมบอกได้คำเดียวว่า กรุงเทพคือเมืองที่พัฒนาไปในทางเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เราสร้างสวนสาธารณะเพื่อให้คนไปที่นั่น แต่เราไม่เคยเก็บต้นไม้และธรรมชาติริมทางหน้าบ้านและริมทางไว้ เพื่อให้คนที่อยู่แถวนั้นทุกวี่วัน…มีความสุข
ผมเป็นคนชอบเที่ยวป่า ชอบมากกว่าทะเลด้วยซ้ำ เพราะทะเลคือสถานที่ทำงาน ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ยกเว้นไปเพื่อพักใจคลายอารมณ์ผมเที่ยวป่ามาตั้งแต่เด็ก เคยเห็นเสือโคร่งเดินข้างถนนที่เขาใหญ่ เคยเห็นทุ่งหญ้าที่โล่งกว้างไกล มองไปทางไหนเห็นหัวเก้งผงกขึ้นมาตรงนั้น กวางย่างเยื้องชำเลืองเดินอยู่ตรงโน้น
เขาใหญ่ในความทรงจำ ช่างต่างจากเขาใหญ่ในทุกวันนี้ วันที่ถนนเต็มไปด้วยรถ ในทุ่งเต็มไปด้วยเต็นท์ ฝูงกวางยังคงอยู่ แต่ใช้ชีวิตอยู่ริมถังขยะ สำหรับเสือ…ผมไม่เห็นมานานแล้ว และคนอื่นก็ไม่เห็นเหมือนกัน
เสือโคร่งหมดป่าเขาใหญ่ไปแล้ว หมดไปตลอดกาล ป่าที่ไม่มีเสือ ที่นั่นไม่เรียกว่าป่า ผมคิดถึงถ้อยคำที่อ่านมาจาก “เพชรพระอุมา” พลางสงสัยว่า ป่าเมืองไทยจะเหลืออีกกี่แห่งที่ยังคงเป็นป่า มิใช่แหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนกรุง
หากในป่าไม่มีเสือ ในน้ำก็ไม่มีฉลาม ผมยังจำฉลามตัวแรกที่เห็นระหว่างการดำน้ำได้ ฉลามหูดำตัวน้อย ว่ายเลาะเลียบฝั่งอยู่ในแนวปะการังน้ำตื้นที่เกาะเต่า หลังจากนั้น ผมไปเกาะสุรินทร์และเกาะสิมิลันผมเห็นฉลาม 4-5 ตัวต่อการดำน้ำ 1 ครั้ง เห็นเช่นนั้นเป็นประจำ จากนั้น…ฉลามหายไป
ผมไม่ได้หมายความว่าทุกฉลามหายไป แต่ฉลามขนาดใหญ่ เช่น ครีบเงิน หายไปแน่นอน ไม่เคยมีใครเจอมานานแล้ว พวกเธอเป็นเหมือนเสือ เป็นสัตว์ประจำถิ่น เมื่อหายไปแล้ว…หายไปเลย ถ้าให้ผมเดา ผมเกือบมั่นใจว่า เธอจะไม่มีวันกลับมาอีก…ตลอดกาล
ในเมืองไร้ต้นไม้คูคลอง ในป่าไร้เสือ ในทะเลไร้ฉลาม แล้วจะให้ผมบอกว่าการอนุรักษ์ของบ้านเราเป็นอย่างไร? ผมไม่สนใจตัวเลขพื้นที่ป่าไม่สนใจว่าแนวปะการังยังคงมีกี่ไร่ ผมสนใจว่า ภาพในอดีตของผมหายไปจะมีเงินอีกกี่แสนล้านก็นำกลับคืนมาไม่ได้ นั่นคือความสูญเสีย
ความสูญเสียของเด็กไทยในทุกวันนั้น ที่จะขาดแหล่งเรียนรู้จากธรรมชาติแสนดี ความสูญเสียด้านการท่องเที่ยว ที่เราไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ด้วยธรรมชาติแสนงาม ความสูญเสียด้านการลงทุนเมื่อไทยถูกตราหน้าว่าแทบไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเหลือ เป็นเพียงแค่ฮับเป็นแค่ทางผ่านไปสู่ธรรมชาติในประเทศรอบด้าน
ทางผ่านก็คือทางผ่าน ไม่เกี่ยวว่าจะมีกี่คนผ่าน เกี่ยวว่ามันก็เป็นแค่ทางผ่าน…เท่านั้น
ในระยะหลัง ผมยังเที่ยวไทย แต่แทบไม่ไปป่าไปทะเลแบบค้นหาเหมือนเดิม เพราะผมไม่เจอเหมือนเดิม ผมไปแค่พักผ่อน เป้าหมายของผมกลับเป็นเมืองนอก ผมไปป่าที่อินเดีย เนปาล แอฟริกา และในอีกหลายประเทศ เพราะผมอยากเห็นป่าที่ยังเป็นป่า ผมไปออสเตรเลีย
ผมดำน้ำสำรวจแนวปะการังหลายแห่งในอ่าวไทยมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน มาวันนี้ ผมกลับไปที่นั่น ไปลงน้ำผมขึ้นจาก น้ำภายใน 5 นาที ไม่ใช่เพราะสังขารไม่อำนวย แต่ผมดำไม่ไหว การดำน้ำไป ร้องไห้ไป มันทำยากเหลือเกิน…
นิวซีแลนด์ และเกาะแก่งอีกหลายแห่ง เพียงเพราะผมหาทะเลที่ผมรักในเมืองไทยแทบไม่เจออีกแล้ว
ที่สำคัญ ผมพาลูกของผมไปด้วย อาจเป็นเรื่องธรรมดาของบางคนแต่สำหรับผม มันเป็นเรื่องแค้นใจที่ต้องพาลูกไปสอนเรื่องธรรมชาติในเมืองนอก ไม่ใช่กระแดะ แต่ผมแทบหาห้องเรียนธรรมชาติไม่ได้อีกแล้วในเมืองไทย
ผมไม่ทราบว่าจะอธิบายความรู้สึกนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าคุณเคยเห็นเหมือนกับที่ผมเคยเห็นเมื่อ 40 ปีก่อน คุณจะเข้าใจ ว่าที่ว่ามัน “เจ๊ง!” มันเจ๊งระดับไหน อย่าใช้คำว่าเสื่อมโทรมลง เพราะมันไม่ได้เสื่อมโทรมลงมันเป็นคนละเรื่อง คนละโลก บางแห่งมันไม่มีอะไรเหมือนกันสักนิด
ผมดำน้ำสำรวจแนวปะการังหลายแห่งในอ่าวไทยมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน มาวันนี้ ผมกลับไปที่นั่น ไปลงน้ำ ผมขึ้นจากน้ำภายใน 5 นาที ไม่ใช่เพราะสังขารไม่อำนวย แต่ผมดำไม่ไหว การดำน้ำไปร้องไห้ไป มันทำยากเหลือเกิน…
จึงมาถึงคำถาม เราควรท้อไหม? เราควรถอยหรือเปล่า?
คำตอบชัดเจนอยู่ตั้งแต่ต้น จนไม่ควรจะมีคำถามนี้ด้วยซ้ำ ในยามที่รอบด้านมืดมิด จะเป็นยามที่แสงเทียนส่องสว่างที่สุด
ผมไม่ได้หวังให้แสงเทียนส่องสว่างขึ้นมาทีละดวงสองดวง ไม่สนใจด้วยว่าแสงเทียนจะสว่างพร้อมกันจนสามารถขับไล่ความมืดให้จางหายไปต่อให้ไม่มีวันนั้นเลย ผมก็ไม่สน
เพราะเวลาที่ผมสนใจ คือเวลานี้ เวลาที่แสงเทียนกำลังสว่าง ต่อให้มีตรงนั้นดวง ตรงนี้ดวง มันก็ยังสว่าง ผมชอบดูเทียนในความมืด
หากเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเข้าใจว่า บางครั้งการอนุรักษ์เหมือนจะมีเป้าหมาย แต่แท้จริงแล้วกลับไม่มี การอนุรักษ์ในแนวคิดผมคือการทำตามสิ่งที่ใจเราบอกว่าใช่ ว่าควรทำ เราเพียงบอกสิ่งที่เราคิดออกไป เราเพียงอธิบายสิ่งที่เราทราบให้คนอื่นรับรู้ จากนั้นคนอื่นจะทำหรือไม่ทำไม่ใช่ปัจจัยตัดสินความสำเร็จ
ความสำเร็จถูกตัดสินแล้วตั้งแต่ตอนที่เราทำ ตั้งแต่ตอนที่เราบอกให้คนอื่นทราบว่าเราคิดอย่างไร
ความสำคัญมีเพียงว่า เรากล้าบอกหรือไม่ ในเวลาที่ป่าร้องเรียกหามากที่สุด ในเวลาที่ทะเลกำลังคร่ำครวญร้องไห้…
สำคัญกว่านั้น เรากล้ารับฟังเหตุผลของการพัฒนาหรือไม่ เรากล้าไตร่ตรองคิดตามหรือเปล่า และถ้าการพัฒนาเป็นอย่างที่ถูกที่ควร เรากล้าจะสนับสนุน…หรือไม่ !!?
นักอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องต่อต้านนายทุนตลอดเวลา เพราะนายทุนมีสิทธิ์รักป่ารักทะเลเหมือนชาวบ้าน เหมือนคนจน หลายต่อหลายหนผมเห็นนายทุนรักป่าหวงทะเลมากกว่าคนจนด้วยซ้ำ
สำหรับผม การอนุรักษ์จึงไม่ใช่การต่อสู้เพื่อความเหลื่อมล้ำในสังคมแต่เป็นการต่อสู้เพื่อการพัฒนาที่ถูกที่ควรในธรรมชาติ
ป่าที่คนจน คนรวย นายทุน ชาวบ้าน หรือใครๆ ก็ตาม สามารถอยู่ร่วมกันได้
ทะเลที่ทุกคนมีสิทธิ์จุ่มหน้าลงน้ำแล้วร้องว้าว เมื่อเห็นปลาตัวเท่าลูกหมูว่ายผ่าน
และเมือง ที่เพียงชะโงกออกมาหน้าบ้าน ก็สามารถสูดกลิ่นไอของต้นไม้ได้ ไม่ต้องฝ่าการจราจรไปให้ถึงสวนสาธารณะ (ที่มีหญ้าเป็นส่วนใหญ่)
เกือบ 50 ปีในช่วงชีวิตผม คนไทยผลาญประเทศไทยจนเกือบหมดเคราะห์ดีที่หลายคนในวันนี้รักต้นไม้กว่าวันนั้น รักหาดทรายสายลม และท้องทะเล มากกว่าเมื่อวาน
มันอาจจะสายไป แต่ผมจำอีกถ้อยคำที่บรรยายไว้ในนิยายอีกเล่มหนึ่ง
เขาว่าความรักทำได้ทุกอย่าง…
ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ หากมีความรักเป็นต้นทุน