พระธาตุแช่แห้ง
คีตะดุริยางค์
ยามค่ำ…
คีตะดุริยางค์นาฏยการ โอเปร่าลานนา สมโภช
นี่คือการแสดงมหรสพสมโภชภาคค่ำอันยิ่งใหญ่ตระการตาอย่างไม่เคยมีมาก่อน เวทีถูกตั้งขึ้นหน้ากำแพงล้อมพระธาตุ มีปราสาทลมอันสร้างด้วยเส้นไม้ไผ่ถัก และ สานแบบโปร่งๆ ดูเบาลอยราวปราสาททิพย์ โดยเห็นองค์พระธาตุแช่แห้งสีทองสุกปลั่ง อยู่เบื้องหลังอย่างเหมาะเจาะ วงออร์เคสตราเครื่องดนตรีผสมล้านนา กับสากล พร้อมนักร้องประสานเสียง ตั้งอยู่เวทีด้านซ้ายของผู้ชม ที่นั่งผู้ชมตั้งเป็นอัฒจันทร์ลดหลั่นไม่ให้คนแถวหน้าบังคนแถวหลัง สำหรับแขกรับเชิญวีไอพีของธนาคารกสิกรไทย ผู้เป็นเจ้าภาพ ส่วนประชาชนทั่วไปก็ยืนดูได้รอบๆ เวทีตามอัธยาศัย การแสดงบนเวทีชื่อธีมว่า “ทิพย์แห่ง ศรัทธา ณ นันทบุรี” เป็นการผสมการขับร้อง ดนตรีและนาฏยลีลาเข้าด้วยกัน ผสาน พิธีกรรม บทกวี บทสวดอย่างล้านนาเข้าไป ด้วยอย่างลงตัว นักร้องมีครบทั้ง ๔ เสียง คือ โซปราโน (สูงปรี๊ด) ออร์โต เทนเนอร์ และเบส ล้วนเป็นนักร้องร่วมสมัย วงล้านนา ออร์เคสตรานี้ ชื่อ “ทิพยะก้องฟ้าลายเมือง”
๑ ยอหัตถา วันทาพระเจ้า
เริ่มด้วยเสียงปี่จุมประกอบการอ่านบทกวี จบแล้วมีเสียงตีพานป่าวประกาศ “พระเจ้าฟ้าทิพยคุ้มภัยเสด็จแล้ว” ๓ ครั้ง พลันกลอง อุ่นเมืองก็ลั่นขึ้น ๓ ครา พระพุทธรูปชื่อ “พระเจ้าฟ้าทิพย์คุ้มภัย” จากวัดพญาวัด ถูกเชิญโดยขบวนขึ้นตั้งบนปราสาทลมหลังใหญ่บนเวทีท่ามกลางเสียงสวดสำเนียง ล้านนา “พุทโธ มังคละ สัมภูโต…” ผู้หลักผู้ใหญ่เจ้าเมืองน่านผู้อาวุโสขึ้นจุดประทีปบูชา พระพุทธรูปบนเวที
๒ ขึ้นท้าวทั้ง ๔ ปลูกมงคล
ไหว้พระแล้ว…ต่อไปก็ไหว้เทวดาฟ้า ดินและท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ เหล่านางฟ้า ทั้ง ๖ เชิญ “สะตวง” (กระทงบรรจุเครื่อง พลีกรรม ข้าวตอกดอกไม้) ๖ อัน ขึ้นวางบนเสา ที่มีกิ่งแยกออกคล้ายเชิงเทียน แล้วก็เชิญ ผู้ใหญ่ขึ้นจุดเทียน ถึงตอนนี้พิธีกรชวนเชิญให้แขกวีไอพีทั้งหลายนำน้ำหอมขวดเล็กๆ ที่ได้แจกไว้ให้ก่อนแล้วพร้อมสูจิบัตร เปิดออก ชโลมมือพนมไหว้ เป็นการให้ผู้ชมมีส่วนบูชา ด้วยเครื่องหอม ให้ความหอมกระจายฟุ้งไปถึงฟ้า ขณะที่เสียงอื่อกั่นโลง (อ่านโคลง) คำบูชาโดยผศ. วิลักษณ์ เจ้าเก่า
“ยอมขันมวลมิ่งไม้ ยอหัตถ์วันทาหว่านไหว้
หว่างคิ้วเกศา ท่านเอย
สาสา องค์เอกแก้ว อินทะตนผ่องแผ้ว
ผ่องฟ้าฟูสรวง เจ้าเอย…”
รูปแบบเป็นโคลงสามดั้นที่นิยมในล้านนา เนื้อหาไพเราะเป็นบทสรรเสริญอัญเชิญ พระอินทร์ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ และพระแม่ธรณีนั่นเอง เมื่อจบลงแล้ว เพลง “เชิญเทวา” ก็ดังขึ้น นางฟ้าก็ฟ้อนเครื่องหอมบูชาเทวดา ทั้ง ๑๖ ชั้นฟ้า ๑๕ แผ่นดิน และบรรดาผีผู้คุ้มครองทั้งหลาย ได้แก่ ผีปู่ ผีย่า ผีเมือง ผีเรือน ผีดง ผีดอย ตลอดจนยักษ์ ครุฑ นาค ทั้งปวง เชิญมาจนหมดฟ้าหมดสุดแผ่นดิน มิให้เหลือเว้นแม้สักตน ทั้งสวรรคภูมิ โลกภูมิ (ยกเว้นนรกภูมิเท่านั้น) เพื่อความเป็นสิริมงคลตามคติของล้านนาแต่เก่าก่อน
๓ ทิพยดลปวงบุปผาสรวง
ถวายเครื่องหอม แล้วมีขบวนเชิญ พานดอกพุ่มดอกทิพยบุปผาขึ้นตั้งตามจุด ต่างๆ ของปราสาทลม บนเวทีก็มีนางฟ้ามา ฟ้อน “ธูปทิพย์บูชาธรรม” ด้วยเพลง “สาธุพระพุทธา” เป็นที่เข้าใจว่า การกระทำพิธีใดๆ จะตามด้วยการฟ้อนรำเสมอทุกขั้นตอนไป
๔ ถวายดวงประทีปเฉลิมบุญ
ไฟเทียนทิพย์ถูกเชิญมาในซุ้มม่าน ผ้าโปร่งบังลมสวยงาม (ป้องกันเทียนดับ) พร้อมริ้วขบวนและเครื่องแห่แหน เช่น ตุงและ พุ่มสูง พอมาถึงหน้าเวทีแล้วก็มีนางฟ้าฟ้อน รับดวงประทีบอีก ๑ เพลง แล้วจึงไขม่านบังลม เชิญเทียนทิพย์ออกให้ผู้ใหญ่ผู้มีเกียรติและ เชื้อเจ้าเมืองน่านขึ้นถวายดวงเทียนทิพย์ที่ปราสาทลมบนเวที
๕ ฉลองคุณนันทบุรี การแสดงถวายฟ้า มอบศาสตราเมือง
ชุดนี้เป็นการรำดาบโดยครูนิก ยอดฝีมือ ฟ้อนเจิงดาบล้านนาในปัจจุบัน ดาบที่รำจำเป็น ดาบเล่มยาวและหนักมาก ตีขึ้นมาใหม่เพื่อ งานนี้ ตีด้วยเนื้อสัตโลหะและเหล็กน้ำพี้อย่างดีโดยสล่าตีดาบชื่อดัง “เสือ ลำน้ำน่าน” เข้าพิธีปลุกเสกอันศักดิ์สิทธิ์ แม้ดาบจะหนัก แต่ครูนิกรำพลิ้วเสียจนดูเหมือนเบาๆ
เสร็จแล้วตามด้วยฟ้อนหน้ากากและฟ้อน ศาสตราภูผาธรรม และฟ้อนดอกไม้จากใจฟ้า ดอกที่นางรำถือดูจะเป็นดอกชมพูภูคาที่มีเฉพาะบนยอดดอยภูคาเมืองน่านเพียงแห่ง เดียว ที่ใครไปใครมาจะต้องขึ้นดอยไปดูให้ได้ ใครโชคดีก็จะได้เห็นและถ่ายรูปกับดอกจริง ใครวาสนาไม่ดีก็จะได้ถ่ายรูปกับภาพอิงค์เจ็ต ไม่ให้เสียน้ำใจที่อุตส่าห์ขึ้นดอยมายากเย็น
มีตัวแสดงสมมุติเป็นเทวาพิทักษ์ เชิญ ดาบ “ศาสตราเฉลิมเมือง” มาให้คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) เป็นผู้มอบให้คุณ บัณฑูร ล่ำซำ นอกจากจะเป็นการขอบคุณที่จัดงานนี้แล้ว ยังเป็นนัยยะว่าขอให้ผู้ถือ ศาสตรานี้มีอำนาจดลให้โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” สัมฤทธิผลด้วยดี ยังความอุดมสมบูรณ์มาสู่เมืองน่านโดยพลัน
๖ ปัจฉิมยาม (ฟินาเล่)
นักแสดงทั้ง ๖๖๖ คนขึ้นเวที คุณบัณฑูร ล่ำซำ เจ้าภาพจัดงานสมโภช ขึ้นมอบช่อดอกไม้ขอบคุณผู้ทำงานทุกฝ่ายแล้ว พลุสมโภช ๖๖๖ ลูกสลับสี จุดขึ้นเบื้องหลังพระธาตุแช่แห้งสีทองอร่ามเรือง ยิ่งใหญ่งดงามสมศักดิ์สมสิทธิ์แห่งองค์พระธาตุ มิ่งขวัญของชาวเมืองน่าน เป็น ภาพจำประทับใจผู้ชมไปอีกนาน
เบื้องหลังความสำเร็จของงานสมโภช
มหรสพสมโภชพระธาตุในคืนแรกนี้จัดถวาย ด้วยความศรัทธาโดยคุณบัณฑูร ล่ำซำ แห่ง ธนาคารกสิกรไทย ผู้มีความรักและผูกพันกับ จังหวัดน่านเป็นพิเศษดังที่ทราบกันดี โดยเฉพาะโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ที่ทำต่อเนื่อง มาหลายปีแล้วเพื่อคืนความอุดมยั่งยืนให้แก่เมืองน่าน พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ซึ่งเป็นปีนักษัตรปีเกิดของท่าน ในวาระที่พระธาตุแช่แห้งครบรอบ ๖๖๖ ปี ตัวเลขพ้องกับอายุท่าน ๖๖ ปีพอดี ท่านจึงเกิดศรัทธาเป็นเจ้าภาพจัดงานสมโภชถวายเป็นพิเศษ
ปรึกษาจัดงานและการแสดง
คุณหญิงวิมลและคุณกุณฑล ศิริไพบูลย์
ประพันธ์บทแสดง บทกวี และคำร้อง
ผศ. วิลักษณ์ ศรีป่าซาง
ประพันธ์ทำนองเพลง
อ. บฤงคพ วรอุไร
ออกแบบจัดทำเครื่องแต่งกาย
คุณอัญชลี ศรีป่าซาง
ผู้กำกับการแสดง
ทพ. ภัทรภูมินทร์ ชัยชมภู
กำกับการร้องเพลง
อ. กิ่งกาญจน์ อุประโจง
เรื่อง: ผศ. ประเทือง ครองอภิรดี
ภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ธ.กสิกรไทย