Tuesday, November 12, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

ฟังเพลงโปรดวันวานที่ห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์

Vinyl Museum in Bangkok

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 60 ตุลาคม
เรื่องและภาพ ฬียากร เจตนานุศาสน์

เชื่อว่าตอนที่ Thomas Alva Edison ได้สร้างเครื่องอัดเสียงขึ้นมาเป็นครั้งแรกสำเร็จในชื่อว่า Phonograph นั้นและต่อมาพัฒนาเป็นตัวแผ่น Vinyl โดย Emile Berliner นำแผ่นสังกะสีมาตัดของเป็นวงกลม ใช้ยางย้อมสีดำและนำมันชแล็กผสมขี้ครั่ง และเขาตั้งชื่อว่า Gramophone เชื่อว่าในตอนนั้นเขาทั้งสองคงไม่คาดคิดว่า อีกราวสองศตวรรษ ต่อมาผู้คนแทบจะเลิกฟังเพลงจากแผ่นเสียง และปล่อยให้ทั้งแผ่นครั่ง แผ่นไวนิล ถูกเก็บอยู่ในกรุ จนกระทั่ง ในกาลต่อมา ที่ผู้คนเริ่มหวนหาข้าวของสิ่งเก่าๆ ในอดีต จนอยากจะรื้อฟื้นกลับมาปัดฝุ่นขึ้นใหม่อีกครั้ง และทำให้เรามีโอกาสได้นั่งลงฟังเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่ให้ความรู้สึกราวกับอดีตทั้งมวลได้ย้อนคืนกลับมา ในบทเพลงมากมาย ที่เกือบจะสูญหายไป…

เรื่องราวของแผ่นเสียง

ในปีค.ศ. ๑๘๕๗ เครื่องเล่นแผ่นเสียงกำเนิดขึ้นมา แต่ก็ยังมีการพัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนเป็นเครื่องเล่นแบบไขลานที่เรียกว่า แกรโมโฟน ในปี ๑๘๙๖ โดยเป็นเครื่องที่ใช้เล่นกับแผ่นครั่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ นิ้ว ในตอนนั้นก็ยังมีข้อเสียคือ ทั้งหนักและแตกหักง่าย แต่ก็เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผู้คนในยุคนั้นใช้ฟังเพลงได้

ถ้าใครพอนึกภาพแผ่นเสียงออก เพราะเคยได้ใช้งานมาบ้าง ก็คือยังเป็นหลักการเดียวกันนั่นคือ บนพื้นผิวหน้าของแผ่นเสียง จะมีร่องเหล็กขนาดจิ๋วเป็นจำนวนมาก ในร่องเหล่านี้จะมีปุ่มขรุขระเพื่อให้เข็มจากเครื่องเล่นแผ่นวิ่งผ่านไปสัมผัสกับปุ่มในร่องจนเกิดเป็นคลื่นเสียงส่งผ่านลำโพงที่มีลักษณะคล้ายปากแตร ซึ่งหากฟังในสมัยนี้เสียงจะค่อนข้างทุ้มต่ำขาดมิติ แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งดีที่สุดในยุคนั้น

  ในกาลต่อมา เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เป็นต้นกำเนิดของเครื่องเล่นในปัจจุบันผลิตขึ้นอย่างสมบูรณ์ในปี ๑๙๓๐ ปีเดียวกับแผ่นเสียงที่ผลิตด้วยพลาสติกไวนิล มีความยืดหยุ่นได้เล็กน้อย น้ำหนักเบา และกระด้างน้อยกว่าแผ่นครั่งในรูปแบบของแผ่นลองเพลย์ ที่ต่อมากลายเป็นตัวที่ขายและทำเงินได้มากขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรีจนเป็นธุรกิจระดับโลกในเวลาต่อมา

แผ่นเสียงบนโลกกว้าง

เมื่อการฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงคือที่สุดของความรื่นรมย์ในยุคนั้น ปี ๑๙๕๗ เครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นที่นิยมมากขึ้นอีก ลักษณะส่วนใหญ่เป็นแบบกระเป๋าหิ้วหรือมีขนาดเล็ก แต่รัศมีของจานแผ่นยังอยู่ที่ ๑๐ นิ้ว แต่ก็สามารถเล่นแผ่นลองเพลย์ที่รัศมี ๑๒ นิ้วได้ จนมาปี ๑๙๖๐ เครื่องเล่นเสียงระบบสเตอริโอเริ่มได้รับความนิยม แผ่นเสียงที่ผลิตในยุคนี้จึงระบุว่าสามารถเล่นได้ทั้งกับเครื่องเสียงโมโนและสเตอริโอ ดังนั้นช่วงที่ถือเป็นยุคทองของแผ่นเสียงและอุตสาหกรรมเครื่องเสียง ก็คือยุค ๑๙๗๐

กระทั่งต่อมา เมื่อเครื่องเสียงระบบสเตอริโอแพร่หลาย นวัตกรรมเครื่องเสียงได้รับการผลิตคิดค้นรุ่นใหม่ออกมาตลอดเวลา การเปิดเพลงจากแผ่น ที่ต้องประกอบด้วยเครื่องเล่น ที่เรียกได้ว่าต้องใช้เนื้อที่ในการจัดวางอุปกรณ์อยู่พอสมควร

ในขณะที่บริบทของสังคม สภาพความเป็นอยู่ต่างๆ ในยุคที่ความรุ่งเรืองพุ่งไปถึงขีดสุดแล้วนั้นถูกลดทอนลงจนข้าวของแทบทุกอย่างถูกปรับขนาดให้เล็กตามลงไป ไม่เว้นแม้แต่อุปกรณ์ที่ใช้ในการรับความรื่นรมย์ของเสียงเพลง

ดังนั้นในยุคต่อมา เราก็จะได้ฟังเพลง จากเทปคาสเซ็ต (เริ่มมีบางคนทำหน้าสงสัยว่าหน้าตาเป็นยังไง) ต่อมาเป็นไอพอด และเหลือเพียงแค่อุปกรณ์อันจิ๋วที่เสียบหูฟังได้เลย และปัจจุบันเราอาจไม่ต้องใช้เครื่องเล่นอะไรอีก แค่เปิดช่องยูทูป จากโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็สามารถค้นหาเพลงอยากฟังจากทุกมุมโลกได้เลย

แล้ววันนี้มีใครอยากรู้บ้างว่าเราจะหาเพลงเก่าๆ ที่บางเพลงเกิดก่อนเรามาหลายร้อยปีจากแผ่นเสียงแผ่นครั่งแบบดั้งเดิมได้จากที่ไหน

ห้องสมุดแผ่นเสียง (The Vinyl Museum)

เพียงย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้แค่ปีเดียว เราก็ยังไม่มีสถานที่นี้ให้มาเยือนด้วยซ้ำ แต่เมื่อหลายปีก่อน หลังจากสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศไม่มีรายการที่เปิดเพลงจากแผ่นเสียงออกอากาศอีกต่อไป จึงได้ทำการเก็บรวบรวมแผ่นเสียงจากสถานีฯ ในจังหวัดต่าง ๆ มารวบรวมไว้ที่กรมประชาสัมพันธ์ในกรุงเทพฯ ซึ่งแม้จะยังจัดเก็บกลับมาไม่ได้ทั้งหมด แต่เท่าที่มีอยู่ตอนนี้ก็ราว ๑๐๕,๐๐๐ แผ่น จึงเรียกได้ว่าเป็นห้องสมุดแผ่นเสียงแห่งแรกที่มีแผ่นเสียงมากที่สุดในตอนนี้ ที่มีทั้งแผ่นครั่ง ตั้งแต่สมัย ร.๕ ที่เริ่มมีการนำแผ่นเสียงเข้ามา และแผ่นไวนิล มีเพลงไทยและสากลให้เลือกฟัง

หากเป็นแผ่นครั่ง ทางห้องสมุดได้นำเพลงจากแผ่นทั้งหมดมาบันทึกไว้ในไฟล์ให้เราเลือกเพลงและฟังได้จากคอมพิวเตอร์ที่มีไว้ให้บริการ ซึ่งเราจะพบว่ามีเพลงไทยเดิมมากมายที่บางเพลงแทบไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่หากลองเปิดฟังดูก็เหมือนได้ย้อนเวลากลับไป…เสียขวัญ…พนันรัก…รอยราคี…แล้งในอก…ลาวครวญ…คืนหนึ่งในเหมันต์… และในจำนวนนี้ยังมีเพลงชาติไทยในสมัยปี ๒๔๗๗ ที่ให้เราย้อนฟังเพลงชาติในสมัยก่อนที่เนื้อร้องต่างจากในปัจจุบัน

ในอีกส่วนของห้องสมุดเป็นฝั่งของแผ่นไวนิล ที่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงไว้ให้เปิดฟัง 2 ชุด ในบริเวณเดียวกัน ดังนั้นเราจะเปิดฟังโดยใช้หูฟัง หรือหากไม่มีใครใช้งานอยู่ด้วย ก็สามารถเปิดเสียงจากลำโพงได้ โดยสามารถเลือกแผ่นทั้งหมดที่มีราวสามหมื่นแผ่น เป็นเพลงที่แม้ในปัจจุบันอาจหาฟังได้จากสื่ออื่นๆ แต่เมื่อได้ลองเลือกเพลงโปรดในวันวานแล้วลองวางเข็มลงบนเครื่องด้วยตัวเอง จากนั้นนั่งฟังสบายๆ บนเก้าอี้และโต๊ะที่จัดวางไว้อย่างสวยงาม บรรยากาศที่…บอกได้เลยว่า นี่คือสวรรค์สำหรับคนรักเสียงเพลงจากแผ่นในบรรยากาศของวันวานที่ย้อนกลับมา

นอกจากนี้ในมุมอื่น ๆ ของห้องสมุด ยังมีเครื่องเสียงรุ่นเก่า เครื่องบันทึกเทปโทรทัศน์ที่ถูกปลดระวาง มุมดนตรีของครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าวงดนตรีและพนักงานของกรมประชาสัมพันธ์ในอดีต และสิ่งที่ถือเป็นบันทึกสำคัญในประวัติศาสตร์อีกอย่างก็คือ ไมโครโฟนส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงเคยใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ โดยทุกครั้งที่พระองค์ทรงมีงานที่ต้องใช้ไมโครโฟนนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยูปกรณ์ของกรมประชาสัมพันธ์จะเป็นฝ่ายติดตั้งไมโครโฟนที่มีตราครุฑติดไว้นี้เพื่อพระองค์เท่านั้น

หลังรับชมและรับฟังเรื่องราวทั้งหมดภายในห้องแผ่นเสียงแห่งนี้แล้ว ก่อนกลับอย่าลืมหยอดเหรียญฟังเพลงเก่าจากตู้เพลงรุ่นเก๋า ที่จะทำหน้าที่ปิดท้ายการมาย้อนอดีตและเชื่อมต่อบทเพลงกับเรื่องราวล้ำค่านี้ลงได้อย่างน่าประทับใจ

The Vinyl Museum ตั้งอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์ ถนน พระราม ๖ เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ ๑๐.๐๐-๑๕.๐๐ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) และหากจะเข้าชม ควรนัดวันเวลาล่วงหน้า ที่ โทร. ๐๒-๖๑๘๒๓๒๓ ต่อ ๒๒๑๒ หรือ ที่ Fb.เพจ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์

About the Author

Share:
Tags: ททท / ไวนิล / Bangkok / museumthailand / พิพิธภัณฑ์ / Vinyl Museum / หอจดหมายเหตุ / กรมประชาสัมพันธ์ / แผ่นเสียง / ห้องสมุดแผ่นเสียง / bangkok museum /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ