Thursday, December 5, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

ท่องประวัติศาสตร์ศิลป์ 5 ยุค ผ่านงานศิลปะในนิทรรศการ MUSEUM MANIA

ภาพ/เรื่อง : สุมิตตา การะเกตุ


นิทรรศการประมูล Museum Mania แสดงผลงานจากยุคก่อร่างสร้างศิลปะสมัยใหม่ สู่ยุคศิลปะร่วมสมัยของประเทศ

               สิ่งที่แน่นอนและคงอยู่บนโลกใบนี้ได้ตลอดไปคือ ‘เวลา’ เพราะ เวลา ทำให้เกิดอดีต ปัจจุบัน และอนาคต บางครั้งการเกิดขึ้นและจบลงอาจสร้างเรื่องราวต่างๆ เอาไว้มาจนเป็นความทรงจำ หรือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า

               ถ้าหากมีสิ่งที่สามารถทำให้หวนรำลึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ ได้ก็คงจะดี โดยเฉพาะงานศิลปะ และสถาปัตยกรรมที่เป็นร่องรอยของประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลา นั่นเป็นสิ่งที่คุณพิริยะ จิตเวชพันธ์ นักสะสมศิลปะ ผู้มีหัวใจอนุรักษ์ ได้ตั้งใจจัดนิทรรศการ ‘MUSEUM MANIA’ นี้ขึ้นมา ณ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (River City Bangkok)  ช่วงวันที่ 12-22 ตุลาคม พ.ศ.2566 ภายในงานได้รวบรวมผลงานศิลปะเอาไว้จำนวน 137 ชิ้น ที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ที่เชื่อมต่อกันของศิลปะแต่ละยุคสมัยจนมาถึงปัจจุบัน

               ก่อนเดินชมนิทรรศการ คุณพิริยะ หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ “ตัวแน่น” ได้เข้ามาเล่าเรื่องราวการกำเนิดงานศิลปะในแต่ละยุคสมัย ทั้งเรื่องความเป็นมาและเหตุการณ์สำคัญของผลงานแต่ละชิ้น จนเกิดเป็นศิลปะที่ทรงคุณค่าจนถึงทุกวันนี้ แบ่งออกเป็น 5 ยุค ตามแต่ละผนังที่ได้ถูกจัดไว้

ยุคที่ 1 : สยามศิวิไลย์และความสัมพันธ์กับศิลปินยุโรป

               คุณพิริยะได้อธิบายการกำเนิดยุคแรกเริ่มของศิลปะสมัยใหม่ว่า “ศิลปะสมัยใหม่ของไทย เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านั้นไม่ว่าจะเป็นสมัยสุโขทัย อยุธยา หรือที่เก่ากว่านั้นจะเรียกว่า ศิลปะไทยแบบประเพณี ซึ่งศิลปะเหล่านั้นจะมีความคล้ายคลึงกัน จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ ขรัว อินโข่ง เริ่มวาดภาพที่มีแสงเงาและสัดส่วนที่สมจริงมากขึ้น เริ่มให้ฝรั่งเข้ามาถ่ายภาพบุคคลของพระองค์ท่าน นั่นคือ จุดเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่ในไทย”

               ซึ่งภาพแรกที่ได้เข้าไปเห็นคือ ภาพบุคคล (Portrait) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5  ไม่ปรากฏนามศิลปิน เมื่อได้รับชมก็มีความรู้สึกตื้นตันใจในการชมภาพพิมพ์หิน (Lithography) ที่มีความประณีตสวยงาม และสมจริงคล้ายรูปถ่าย แต่การที่ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับภาพนี้ไปด้วย ทำให้เกิดองค์ความรู้และความเข้าใจถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ศิลปะไทยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการที่พระมหากษัตริย์ของไทยสมัยนั้น หรือ รัชกาลที่ 4 ยอมให้ศิลปินยุโรปเข้ามาเผยแพร่วัฒนธรรมในสยามศิวิไลย์นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ส่งผลให้เกิดผลงานศิลปะแบบผสมผสานระหว่างไทยและฝรั่งได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

               ในห้องนิทรรศการของยุคนี้ จะเห็นได้ว่างานศิลปะเริ่มมีความแตกต่างจากศิลปะไทยแบบประเพณี มีความเหมือนจริงมากขึ้น โดยเฉพาะภาพบุคคล (Portrait) ทั้งเส้น สี แสง เงาที่ใช้ เนื่องจากมีเทคโนโลยีของฝรั่งอย่าง ‘กล้องถ่ายภาพ’ เข้ามาในสยาม ทำให้งานเขียนจิตรกรรมมีความสมจริงมากขึ้น

               ผลงานที่สะดุดตามากที่สุด คือ กระจกสี ที่เป็นบานประตูและหน้าต่าง และเคยถูกประดับอยู่ในคฤหาสน์สกาลินี ประเทศอิตาลี ของศิลปินชาวยุโรป อย่างการ์ลิเลโอ คินี (Galileo Chini) และผลงาน Triton and Nereid ของ คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันที่สะท้อนถึงนิทานปรัมปราของกรีก อย่างเรื่องราวของนายเงือกและภูติทะเล ผู้พิทักษ์นักเดินเรือ ซึ่งทั้งคู่เป็นที่ชื่นชอบของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยนั้น ทำให้ผลงานต่าง ๆ ของศิลปินถูกเก็บไว้ในวังแทบทั้งหมด จะมีอยู่บางชิ้นที่เล็ดลอดออกมาและถูกนำไปจัดแสดง

ยุคที่ 2 : บุกเบิกการเรียนรู้และสร้างสรรค์ศิลปะของประเทศไทย

              “เมื่อมีศิลปินฝรั่งเข้ามาในเมืองไทยและเริ่มมีการสอนศิลปะในประเทศไทย แล้วคนไทยเราเลยสร้างศิลปะแบบตะวันตก เพราะมีการเรียนการสอนเกิดขึ้น” ในที่นี้จากการบอกเล่าของคุณพิริยะ เราอาจเข้าใจว่าโรงเรียนการสอนศิลปะแห่งแรกคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ที่จริงแล้วโรงเรียนศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 นั่นคือ โรงเรียนเพาะช่าง

          ดังนั้นก่อนเข้าชมสู่ยุคที่ 2 จึงขอเกริ่นเพื่อให้เกิดความเข้าใจก่อนว่า ผลงานในยุคนี้ที่จัดแสดงนั้นเป็นงานศิลปะของอาจารย์ในโรงเรียนเพาะช่างยุคแรก ๆ ซึ่งหลายท่านเป็นบุคคลสำคัญและเป็นศิลปินแห่งชาติ ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนแบบศิลปะตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทย การร้อยเรียงในยุคนี้ จึงเป็นการนำเสนอการถ่ายทอดวิชาความรู้แบบตะวันตกสู่นักเรียนศิลปะ ต่างจากในยุคแรกที่จำกัดเฉพาะชนชั้นสูงและกลุ่มในวังเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นการแยกลำดับยุคสมัยได้อย่างชัดเจน

               ในส่วนของการจัดนิทรรศการในยุคที่ 2 จากการเดินชมจะเห็นว่านิทรรศการแยกประเภทผลงานเป็นสัดส่วนชัดเจน สังเกตจากภาพทิวทัศน์และภาพเหมือนบุคคลที่ถูกติดตั้งคนละที่กัน แนวงานมีความเป็นศิลปะแบบตะวันตกมากขึ้น ทั้ง ปราณบุรี (Pranburi) ของคุณประกิต (จิต) บัวบุศย์ ที่เขียนทิวทัศน์แบบอิมเพรสชั่นนิสม์, งานหุ่นนิ่ง (Still-Life) รูปแจกันดอกไม้ ของคุณแนบ บังคม, ‘ละแวกบ้าน’ ภาพจิตรกรรมทิวทัศน์ ของคุณจ่าง แซ่ตั้ง และภาพ นู้ด (Nude) ของคุณระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ ที่มีการผสมผสานระหว่างไทยและตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งศิลปินทุกท่านได้ใช้เทคนิคแบบตะวันตก โดยเฉพาะน้ำหนักแสงเงา แต่มีเนื้อหาที่สื่อถึงความเป็นไทย

ยุคที่ 3 : จากโรงเรียนประณีตศิลปกรรมสู่มหาวิทยาลัยศิลปากร

              เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคที่ 3 คุณพิริยะได้เล่าว่า “ผู้ก่อตั้งมหาลัยศิลปากรคือ ศิลป์ พีระศรี โดยเริ่มจากการเป็นโรงเรียนและได้รับการยกระดับจนกลายเป็นมหาลัยในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม” โดยเริ่มเล่าตั้งแต่การเริ่มต้น ประวัติและความเป็นมาของสถาบัน

          กล่าวคือ ผลงานที่ถูกจัดแสดงในยุคนี้ เป็นของลูกศิษย์ของคุณ ศิลป์ พีระศรี หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรในช่วงยุคแรก ๆ เกือบแทบทั้งสิ้น เป็นการสะท้อนถึงการสอนและการถ่ายทอดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบตะวันตก ในรูปแบบของสถาบันการศึกษาที่ถูกยอมรับมากยิ่งขึ้น

          โดยส่วนใหญ่ผลงานที่นำมาจัดแสดง เป็นผลงานสร้างสรรค์โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในไทย ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม 3 มิติ ของคุณเขียน ยิ้มศิริ, ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันรูปดอกโบตั๋น ของคุณสันต์ สารากรบริรักษ์ และภาพที่เป็นไฮไลท์ของนิทรรศการนี้  อย่างภาพชายร่างกำยำและขี่ควาย 3 ตัว ของคุณถวัลย์ ดัชนี ซึ่งเป็นภาพที่แพงที่สุดชิ้นหนึ่งของประเทศไทย และมีราคาประมูลสูงสุดอยู่ที่ราว 25 ล้านบาท โดยผลงานชิ้นนี้ตั้งอยู่ใจกลางนิทรรศการและสามารถมองเห็นได้โดยง่าย

ยุคที่ 4 : สืบสานปณิธานศิลป์

 เมื่อเดินเข้ามาถึงห้องโถงสุดทางเดินบริเวณชั้น 2 จะปรากฏเป็นผลงานแนวใหม่ที่หลากหลายและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ผลงานที่นำมาจัดแสดงเป็นผลงานศิลปะสมัยใหม่แบบตะวันตก และศิลปะที่นำเสนอแนวประเพณีและวัฒนธรรม ทั้งในเชิงของการสืบสานอัตลักษณ์ รูปแบบ และเนื้อหาจากประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นของ ‘ความเป็นไทย’ สู่สายตาต่างชาติ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเชิดชูสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังป้องกันการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสม์ ดังนั้นวงการศิลปะจึงเกิดเวทีการประกวดต่างๆ ขึ้น โดยส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้โจทย์เกี่ยวกับประเพณีไทยแบบดั้งเดิม เช่น ‘การประกวดจิตรกรรมบัวหลวง’ ในปีพ.ศ. 2517 โดยมูลนิธิบัวหลวง ธนาคารกรุงเทพ

              จะสังเกตว่า โดยผลงานยุคนี้เป็นผลงานที่อยู่ในการประกวดจิตรกรรมบัวหลวงในข้างต้น ที่เน้นรูปแบบและเนื้อหาจากประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศไทย ทั้งภาพนางรำอย่าง Golden Wave ของคุณเริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล, ภาพ ตานก๋วยสลาก เป็นผลงานจิตรกรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตทางภาคเหนือ และผลงาน The Divine Fish ประติมากรรมรูปปลา ของคุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งนับว่าเป็นการนำเสนอผลงานเด่น ๆ ของศิลปินชื่อดังอีกหลายท่านที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและต่างประเทศเลยทีเดียว ต่างจากผลงานศิลปะในยุคแรก ที่เป็นการรับแนวความคิด เทคนิคและวิธีคิดแบบตะวันตกเข้ามาในไทย

ยุคที่ 5 : ความหลากหลายจากโลกาภิวัตน์
ร่วมสมัย และยุคแห่งดิจิทัล

             

              มาสู่ยุคสุดท้าย หรือยุคปัจจุบัน ซึ่งอยู่บริเวณชั้น 1 ของนิทรรศการ ที่สามารถเดินเช้ามาพบเป็นจุดแรก เราจะพบกับผลงานรู้จักกันดี อย่าง Bearbrick ของคุณรักกิจ ควรหาเวช, The Crying Head Sculpture No.3 ของคุณนิสา ศรีคำดี (มอลลี่) และ Face ของคุณ Alex Face หรือ พัชรพล แตงรื่น ซึ่งงานส่วนใหญ่เป็นที่น่าจับตามองของนักสะสมงานศิลปะ โดยคุณพิริยะ กล่าวว่า

              “วงการศิลปะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แต่ความน่าสนใจ คือ พอมีการรวมกลุ่มผลงานเหล่านี้ขึ้นมา ทำให้นักสะสมเติบโตมากขึ้น ทำให้ฐานของคนที่เก็บงานศิลปะในไทยนั้นใหญ่กว่าเดิม จนกระทั่งวงการศิลปะในไทยเกิดความคึกคัก”

              ดังนั้นการที่ศิลปะในประเทศไทยนั้นเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ล้วนเป็นผลดีต่อตัวศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน และยังเป็นผลดีต่อนักสะสมศิลปะด้วยเช่นกัน เมื่อคนในสังคมตระหนักถึงคุณค่าของผลงานมากขึ้น หากสังเกตถึงในอดีต ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มศิลปะถูกเข้าถึงแค่เฉพาะขุนนางชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์เท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของศิลปะไทยที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

              เมื่อได้ชมนิทรรศการจนครบหมดทุกห้องแล้ว สิ่งแรกๆ ที่เข้ามาในหัวคือ นิทรรศการ Museum Mania ชวนให้นึกถึงประวัติศาสตร์ต่างๆ ในอดีต และการเปลี่ยนแปลงของศิลปะไทย จนกลายเป็นผลงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผ่านผลงานศิลปะนับร้อยชิ้น เชื่อว่าหากใครได้เข้าชมนิทรรศการแห่งนี้ ก็จะหลงรักในศิลปะและภูมิใจในความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น

About the Author

Share:
Tags: พิริยะ วัชจิตพันธ์ / งานศิลปะ / crybaby / arttoy / ถวัลย์ดัชนี / rivercitybangkok / museummania /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ