Sunday, July 7, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

วิถีพอเพียง แห่งชุมชนบ้านเกาะกลาง จ.กระบี่

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 22
เรื่อง / ภาพ: ภานุวัฒน์ เอื้อชนานนท์

“เขาขนาบน้ำ” อีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของเมืองกระบี่ โดดเด่นด้วยภูเขาหินปูน ๒ ลูก ที่ตั้งตระหง่านคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ทุกฤดูกาล

วิถีพอเพียง

แห่งชุมชนบ้านเกาะกลาง จ.กระบี่

“การดำรงชีวิตของมนุษย์จะสมบูรณ์แบบได้ก็ต่อเมื่อเราพร้อมที่จะเรียนรู้ศึกษาและเข้าใจในธรรมชาติได้เป็นอย่างดี” ประโยคที่กล่าวมานี้อาจดูไม่ใช่เรื่องยากสักเท่าไรหากจะปฏิบัติตาม แต่ถ้าว่ากันตามจริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติเพื่อปรับตัวเราให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกวัน

ลงเรือหัวโทงที่ท่าเรือเจ้าฟ้า มุ่งหน้าสู่เกาะกลาง ใช้เวลาเพียง ๑๐ นาที

ด้วยภาพของวิถีการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกันเหล่านี้เอง ทำให้นึกถึงภาพชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ชัดเจนขึ้นมาจากหลายๆ ที่ ซึ่งแม้ว่าภาพในฝันของใครหลายคนเมื่อเอ่ยถึงเมืองกระบี่แล้ว คงจะหนีไม่พ้นความสวยงามของหมู่เกาะทะเล และชายหาดอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเรื่อยมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าเมืองกระบี่ยังมีชุมชนเล็กๆ อยู่แห่งหนึ่งที่มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ผู้คนปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรอบตัวได้เป็นอย่างดีนั่นก็คือ “ชุมชนเกาะกลาง” ตำบลคลองประสงค์ จังหวัดกระบี่

ภาพของเกาะเล็กๆ แห่งนี้ที่มีพื้นที่รอบเกาะราว ๑๑ กิโลเมตร อยู่ห่างจากฝั่งเพียงแค่นั่งเรือหางยาวไม่ถึง ๑๐ นาที แต่มีความหลากหลายทางธรรมชาติและมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์มาเนิ่นนาน แม้ในปัจจุบันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก สาเหตุเพราะชุมชนบนเกาะมีแนวคิดอุดมการณ์ พร้อมใจร่วมมือและมองไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรักษาสิ่งที่ชาวบ้านเกาะกลางเคยมีมาแต่อดีตให้คงไว้จนถึงวันนี้และในวันข้างหน้าและนี่คือเรื่องราวของ “วิถีพอเพียงแห่งชุมชนบ้านเกาะกลาง จังหวัดกระบี่”

รูปปั้น “นกออก” นกอินทรีทะเลสายพันธุ์หนึ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าโกงกาง
บรรยากาศของริมน้ำ “บ้านเกาะกลาง” ซึ่งมีร้านอาหารริมแพให้เลือกอร่อยมากมาย
“ปูยักษ์” จุดชมวิวและจุดแวะถ่ายรูปที่ระลึกตั้งอยู่ริมน้ำเมืองกระบี่

เริ่มต้นจากบริเวณถนนที่ขนานไปกับริมฝั่งแม่น้ำกระบี่ จะพบเห็น “เขาขนาบน้ำ” ภูเขา ๒ ลูก ตามที่เห็นในภาพเป็นเสมือนอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองกระบี่ ความสวยงามของเขาขนาบน้ำไม่ได้มีแค่ให้มองเห็นแต่ไกลๆ เท่านั้น เรายังสามารถนั่งเรือชมทัศนียภาพได้ด้วยจากเรือบริการบริเวณท่าเรือที่เป็นจุดแวะพักถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวซึ่งผ่านไปผ่านมา นอกเหนือไปจากเขาขนาบน้ำที่เราเห็นแล้ว ขับตรงต่อมาเรื่อยๆ บริเวณท่าเรือยังมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของ “ปูยักษ์” และรูปปั้นสุดอลังการของ “นกออก” นกอินทรีทะเลสายพันธุ์หนึ่งที่กางปีกสยายต้อนรับอยู่บริเวณท่าเรือ จากนั้นอีกประมาณ ๕๐๐ เมตรก็จะถึงบริเวณท่าเรือเจ้าฟ้าซึ่งเป็นจุดลงเรือนำเราข้ามสู่เกาะกลางได้อย่างสบายๆ ในเวลาไม่ถึง ๑๐ นาที โดยเส้นทางนั่งเรือสู่เกาะนั้นเรายังสามารถผ่านป่าโกงกาง “คลองลัดท่าหิน” ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อชมทัศนียภาพของป่าโกงกางได้อีกด้วย

ล่องเรือลัดเลาะชมบรรยากาศของป่าโกงกางอันสมบูรณ์

แม้ความงดงามของเกาะกลางอาจไม่ได้มีจุดเด่นอยู่ที่ความสวยใสของผืนน้ำทะเล หรือมีชายหาดกว้างใหญ่เหมือนอีกหลายแห่งในกระบี่แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าที่นี่จะไม่มีความสวยงาม เพราะเอกลักษณ์และมนตร์เสน่ห์ของเกาะกลางนั้นอยู่ที่เรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนทั้ง ๓ หมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนประชากรบนเกาะราวๆ ๕,๐๐๐ คน

อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่คือการทำประมง แต่ก็ยังมีกลุ่มชุมชนจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพที่น่าสนใจขึ้นมาอีกหลายกล่มุ ด้วยกัน อย่างเช่น กลุ่มชาวนาข้าวสังข์หยด กลุ่มการทำเรือหัวโทงจำลอง กลุ่มชุมชนทำผ้าปาเต๊ะ และกลุ่มทำโฮมสเตย์ซึ่งให้บริการที่พักในบรรยากาศแบบเรียบง่าย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างแรมบนเกาะ

เอกลักษณ์และมนตร์เสน่ห์ของเกาะกลางอยู่ที่เรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนทั้ง ๓ หมู่บ้าน

หนึ่งในขั้นตอนกว่าจะมาเป็นข้าวสังข์หยดที่สะอาด มีคุณภาพและถูกหลักอนามัย ต้องใช้น้ำพักน้ำแรงของคนในหมู่บ้านช่วยกัน
ประวัติ คลองรั้ว (บังประวัติ) กับผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดที่พร้อมขายให้นักท่องเที่ยว

ชุมชนกลุ่มแรกซึ่งเราจะได้พบเจอบนเกาะอยู่ที่ “ศูนย์ชาวนาข้าวสังข์หยด” เป็นกลุ่มของชาวบ้านที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางคอยให้ข้อมูลความรู้ทำการสาธิต และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการทำนาข้าวสังข์หยดให้แก่ผู้ที่สนใจมาเรียนรู้ศึกษา ข้าวสังข์หยดเป็นข้าวนาปี ปลูกปีละครั้ง เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์หว่านกล้า โดยจะเริ่มปลูกข้าวดำนากันในช่วงเดือนสิงหาคม และไปถึงฤดูเก็บเกี่ยวราวปลายปีในเดือนธันวาคม ข้าวสังข์หยดนี้เดิมทีเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดพัทลุงเป็นพันธุ์ข้าวจัดอยู่ในกลุ่มข้าวที่มีสีแดงหรือสีม่วงในอดีตนั้นการจะหุงข้าวสังข์หยดก็เพื่อรับแขกคนสำคัญ หรือนำไปกราบไหว้ผู้ใหญ่ในวาระวันสำคัญต่างๆ รวมทั้งเป็นของกำนัล ด้วยเหตุผลว่าข้าวสังข์หยดอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการซึ่งมีคุณค่าต่อสุขภาพนั่นเอง

ลำดับต่อมาที่เราจะได้พบก็คือ กลุ่มชุมชนที่มีความสามารถในด้านการประดิษฐ์ อย่าง “กลุ่มผลิตเรือหัวโทงจำลองชุมชนบ้านเกาะกลาง” ภายในศูนย์มีทั้งบริเวณซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับทำเรือหัวโทงจำลอง และห้องจัดวางสินค้าขายของที่ระลึกไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากศูนย์เรือหัวโทงจำลองแห่งนี้ เรือหัวโทงมีต้นกำเนิดมาจากบ้านหาดยาว หมู่ ๔ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดยชาวบ้าน จะใช้เรือชนิดนี้ออกทะเลเพื่อหาปลามาดำรงชีพรวมทั้งยังใช้ในการเดินทางอีกด้วย ลักษณะพิเศษของเรือที่มี “หัวโทง” นั้นจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการเดินเรือได้ดีกว่าเรือทั่วไปและยังมีการทรงตัวที่ดีขึ้นด้วย

เรือหัวโทงจำลอง หนึ่งในงานศิลปะและสัญลักษณ์ของ จ.กระบี่ ที่เราสามารถเรียนรู้ได้ที่ชุมชนบ้านเกาะกลาง

และด้วยความที่ชุมชนบ้านเกาะกลางมีพื้นที่ติดต่อกับตำบลตลิ่งชัน จึงได้รับวัฒนธรรมการต่อเรือนี้มา ปจั จบุ นั อาชพี การประกอบเรือหัวโทงเริ่มลดน้อยลงและรูปแบบแท้ๆ ของเรือหัวโทงดั้งเดิมก็หาดูได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านเกาะกลางจึงได้มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มทำเรือหัวโทงจำลองขึ้นเพื่อเป็นสินค้าที่ระลึก และยังเป็นการสื่อถึงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดกระบี่อีกด้วย

จากเส้นทางถนนผ่านทัศนียภาพสองข้างทางมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็พาเรามาถึงชุมชนสุดท้าย “กลุ่ม OTOP ผ้าปาเต๊ะ หมู่ ๒ ตำบลคลองประสงค์” ศูนย์ผ้าปาเต๊ะแห่งนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชาวบ้านที่ได้แนวคิดและวิธีการทำผ้าปาเต๊ะมาจากจังหวัดปัตตานี แต่วิธีการทำผ้าปาเต๊ะของชาวเกาะกลางก็จะเป็นรูปแบบเฉพาะตัวผสมผสานศิลปะเข้าด้วยกันระหว่างการทำผ้าปาเต๊ะของชาวมาเลย์กับวิธีการทำผ้าบาติก ดังนั้นเมื่อผ้าเสร็จออกมาจึงมีลวดลายของผ้าและสีสันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผ้าบางผืนก็ใช้เวลาทำนานหลายวัน บางทีเป็นสัปดาห์เลยก็มีกว่าเราจะได้เห็นเป็นลวดลายสวยๆ เตรียมพร้อมจัดจำหน่ายเป็นของที่ระลึกแก่ผุ้มาเยือน รวมทั้งส่งไปจำหน่ายตามงานต่างๆ

ผืนผ้าปาเต๊ะลวดลายงดงาม ต้องใช้ทั้งฝีมือและความอดทนผ่านขั้นตอนหลากหลายกว่าที่จะมาเป็นผ้าผืนสวย
โฮมสเตย์ อีกหนึ่งบรรยากาศการพักผ่อนที่จะพลาดไม่ได้เมื่อมาเยือนที่บ้านเกาะกลาง

เรื่องราวทั้งหมดของ ๓ ชุมชนที่เราได้เรียนรู้บนเกาะกลาง ทำให้เห็นว่าความรู้ทางด้านวิชาชีพที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นส่งต่อกันมาจะไม่เลือนหายไปหากมีคนช่วยกันสานต่อ และยังทำให้ชุมชนมีอัตลักษณ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะบ่งบอกความเป็นชุมชนแห่งนี้

อาจกล่าวได้ว่า จังหวัดกระบี่เป็นอีกหนึ่งจังหวัดท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทะเล ถ้ำ ภูเขา น้ำตก หากใครเดินทางมาจังหวัดกระบี่ พร้อมกับจัดทริปท่องเที่ยวให้กับตัวเองไว้แล้ว แนะนำว่าน่าจะหาเวลามาที่เกาะกลาง เป็นโปรแกรมพิเศษที่เพิ่มเติมเข้ามา…แวะนอนเล่นโฮมสเตย์สักคืน สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตเรียบง่าย นั่งสามล้อเที่ยวบนเกาะตกเย็นก็หามุมพระอาทิตย์ตกสวยๆ แล้วเข้านอนแต่หัวค่ำเพื่อตื่นเช้ารับอากาศบริสุทธิ์ ก่อนเดินทางกลับพร้อมประสบการณ์ดีๆ ที่ได้มาชมความงามตามธรรมชาติและเรียนรู้ในวิถีชุมชนแห่งบ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ จังหวัดกระบี่

สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวชุมชนบ้านเกาะกลาง

ศูนย์ชุมชนข้าวสังข์หยด:
บังประวัติ
โทร. ๐๘ ๖๙๔๓ ๔๕๗๙
กลุ่ม OTOP ผ้าปาเต๊ะ:
ป้าประจิม
โทร. ๐๘ ๙๘๗๕ ๐๖๙๗
กลุ่มผลิตเรือหัวโทงจำลอง ชุมชนบ้านเกาะกลาง:
บังสมบูรณ์
โทร. ๐๘ ๑๕๖๙ ๐๒๒๔
คลองลุโฮมสเตย์:
คุณสมพงษ์ (บังสัน)
โทร. ๐๘ ๙๕๙๒ ๙๕๘๘
หรือ ซาน๊ะ
โทร. ๐๙ ๑๕๒๘ ๑๕๒๙

About the Author

Share:
Tags: เขาขนาบน้ำ / ป่าโกงกาง / ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม / เที่ยว / ป่า / ท่องเที่ยว / เรือหัวโทง / เกาะกลาง / กระบี่ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ