นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 22
เรื่อง / ภาพ: ภานุวัฒน์ เอื้อชนานนท์

วิถีพอเพียง
แห่งชุมชนบ้านเกาะกลาง จ.กระบี่
“การดำรงชีวิตของมนุษย์จะสมบูรณ์แบบได้ก็ต่อเมื่อเราพร้อมที่จะเรียนรู้ศึกษาและเข้าใจในธรรมชาติได้เป็นอย่างดี” ประโยคที่กล่าวมานี้อาจดูไม่ใช่เรื่องยากสักเท่าไรหากจะปฏิบัติตาม แต่ถ้าว่ากันตามจริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติเพื่อปรับตัวเราให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกวัน

ด้วยภาพของวิถีการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกันเหล่านี้เอง ทำให้นึกถึงภาพชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ชัดเจนขึ้นมาจากหลายๆ ที่ ซึ่งแม้ว่าภาพในฝันของใครหลายคนเมื่อเอ่ยถึงเมืองกระบี่แล้ว คงจะหนีไม่พ้นความสวยงามของหมู่เกาะทะเล และชายหาดอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเรื่อยมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าเมืองกระบี่ยังมีชุมชนเล็กๆ อยู่แห่งหนึ่งที่มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ผู้คนปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรอบตัวได้เป็นอย่างดีนั่นก็คือ “ชุมชนเกาะกลาง” ตำบลคลองประสงค์ จังหวัดกระบี่
ภาพของเกาะเล็กๆ แห่งนี้ที่มีพื้นที่รอบเกาะราว ๑๑ กิโลเมตร อยู่ห่างจากฝั่งเพียงแค่นั่งเรือหางยาวไม่ถึง ๑๐ นาที แต่มีความหลากหลายทางธรรมชาติและมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์มาเนิ่นนาน แม้ในปัจจุบันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก สาเหตุเพราะชุมชนบนเกาะมีแนวคิดอุดมการณ์ พร้อมใจร่วมมือและมองไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรักษาสิ่งที่ชาวบ้านเกาะกลางเคยมีมาแต่อดีตให้คงไว้จนถึงวันนี้และในวันข้างหน้าและนี่คือเรื่องราวของ “วิถีพอเพียงแห่งชุมชนบ้านเกาะกลาง จังหวัดกระบี่”



เริ่มต้นจากบริเวณถนนที่ขนานไปกับริมฝั่งแม่น้ำกระบี่ จะพบเห็น “เขาขนาบน้ำ” ภูเขา ๒ ลูก ตามที่เห็นในภาพเป็นเสมือนอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองกระบี่ ความสวยงามของเขาขนาบน้ำไม่ได้มีแค่ให้มองเห็นแต่ไกลๆ เท่านั้น เรายังสามารถนั่งเรือชมทัศนียภาพได้ด้วยจากเรือบริการบริเวณท่าเรือที่เป็นจุดแวะพักถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวซึ่งผ่านไปผ่านมา นอกเหนือไปจากเขาขนาบน้ำที่เราเห็นแล้ว ขับตรงต่อมาเรื่อยๆ บริเวณท่าเรือยังมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของ “ปูยักษ์” และรูปปั้นสุดอลังการของ “นกออก” นกอินทรีทะเลสายพันธุ์หนึ่งที่กางปีกสยายต้อนรับอยู่บริเวณท่าเรือ จากนั้นอีกประมาณ ๕๐๐ เมตรก็จะถึงบริเวณท่าเรือเจ้าฟ้าซึ่งเป็นจุดลงเรือนำเราข้ามสู่เกาะกลางได้อย่างสบายๆ ในเวลาไม่ถึง ๑๐ นาที โดยเส้นทางนั่งเรือสู่เกาะนั้นเรายังสามารถผ่านป่าโกงกาง “คลองลัดท่าหิน” ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อชมทัศนียภาพของป่าโกงกางได้อีกด้วย

แม้ความงดงามของเกาะกลางอาจไม่ได้มีจุดเด่นอยู่ที่ความสวยใสของผืนน้ำทะเล หรือมีชายหาดกว้างใหญ่เหมือนอีกหลายแห่งในกระบี่แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าที่นี่จะไม่มีความสวยงาม เพราะเอกลักษณ์และมนตร์เสน่ห์ของเกาะกลางนั้นอยู่ที่เรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนทั้ง ๓ หมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนประชากรบนเกาะราวๆ ๕,๐๐๐ คน
อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่คือการทำประมง แต่ก็ยังมีกลุ่มชุมชนจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพที่น่าสนใจขึ้นมาอีกหลายกล่มุ ด้วยกัน อย่างเช่น กลุ่มชาวนาข้าวสังข์หยด กลุ่มการทำเรือหัวโทงจำลอง กลุ่มชุมชนทำผ้าปาเต๊ะ และกลุ่มทำโฮมสเตย์ซึ่งให้บริการที่พักในบรรยากาศแบบเรียบง่าย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างแรมบนเกาะ
เอกลักษณ์และมนตร์เสน่ห์ของเกาะกลางอยู่ที่เรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนทั้ง ๓ หมู่บ้าน



ชุมชนกลุ่มแรกซึ่งเราจะได้พบเจอบนเกาะอยู่ที่ “ศูนย์ชาวนาข้าวสังข์หยด” เป็นกลุ่มของชาวบ้านที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางคอยให้ข้อมูลความรู้ทำการสาธิต และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการทำนาข้าวสังข์หยดให้แก่ผู้ที่สนใจมาเรียนรู้ศึกษา ข้าวสังข์หยดเป็นข้าวนาปี ปลูกปีละครั้ง เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์หว่านกล้า โดยจะเริ่มปลูกข้าวดำนากันในช่วงเดือนสิงหาคม และไปถึงฤดูเก็บเกี่ยวราวปลายปีในเดือนธันวาคม ข้าวสังข์หยดนี้เดิมทีเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดพัทลุงเป็นพันธุ์ข้าวจัดอยู่ในกลุ่มข้าวที่มีสีแดงหรือสีม่วงในอดีตนั้นการจะหุงข้าวสังข์หยดก็เพื่อรับแขกคนสำคัญ หรือนำไปกราบไหว้ผู้ใหญ่ในวาระวันสำคัญต่างๆ รวมทั้งเป็นของกำนัล ด้วยเหตุผลว่าข้าวสังข์หยดอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการซึ่งมีคุณค่าต่อสุขภาพนั่นเอง

ลำดับต่อมาที่เราจะได้พบก็คือ กลุ่มชุมชนที่มีความสามารถในด้านการประดิษฐ์ อย่าง “กลุ่มผลิตเรือหัวโทงจำลองชุมชนบ้านเกาะกลาง” ภายในศูนย์มีทั้งบริเวณซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับทำเรือหัวโทงจำลอง และห้องจัดวางสินค้าขายของที่ระลึกไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากศูนย์เรือหัวโทงจำลองแห่งนี้ เรือหัวโทงมีต้นกำเนิดมาจากบ้านหาดยาว หมู่ ๔ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดยชาวบ้าน จะใช้เรือชนิดนี้ออกทะเลเพื่อหาปลามาดำรงชีพรวมทั้งยังใช้ในการเดินทางอีกด้วย ลักษณะพิเศษของเรือที่มี “หัวโทง” นั้นจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการเดินเรือได้ดีกว่าเรือทั่วไปและยังมีการทรงตัวที่ดีขึ้นด้วย


และด้วยความที่ชุมชนบ้านเกาะกลางมีพื้นที่ติดต่อกับตำบลตลิ่งชัน จึงได้รับวัฒนธรรมการต่อเรือนี้มา ปจั จบุ นั อาชพี การประกอบเรือหัวโทงเริ่มลดน้อยลงและรูปแบบแท้ๆ ของเรือหัวโทงดั้งเดิมก็หาดูได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านเกาะกลางจึงได้มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มทำเรือหัวโทงจำลองขึ้นเพื่อเป็นสินค้าที่ระลึก และยังเป็นการสื่อถึงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดกระบี่อีกด้วย

จากเส้นทางถนนผ่านทัศนียภาพสองข้างทางมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็พาเรามาถึงชุมชนสุดท้าย “กลุ่ม OTOP ผ้าปาเต๊ะ หมู่ ๒ ตำบลคลองประสงค์” ศูนย์ผ้าปาเต๊ะแห่งนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชาวบ้านที่ได้แนวคิดและวิธีการทำผ้าปาเต๊ะมาจากจังหวัดปัตตานี แต่วิธีการทำผ้าปาเต๊ะของชาวเกาะกลางก็จะเป็นรูปแบบเฉพาะตัวผสมผสานศิลปะเข้าด้วยกันระหว่างการทำผ้าปาเต๊ะของชาวมาเลย์กับวิธีการทำผ้าบาติก ดังนั้นเมื่อผ้าเสร็จออกมาจึงมีลวดลายของผ้าและสีสันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผ้าบางผืนก็ใช้เวลาทำนานหลายวัน บางทีเป็นสัปดาห์เลยก็มีกว่าเราจะได้เห็นเป็นลวดลายสวยๆ เตรียมพร้อมจัดจำหน่ายเป็นของที่ระลึกแก่ผุ้มาเยือน รวมทั้งส่งไปจำหน่ายตามงานต่างๆ



เรื่องราวทั้งหมดของ ๓ ชุมชนที่เราได้เรียนรู้บนเกาะกลาง ทำให้เห็นว่าความรู้ทางด้านวิชาชีพที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นส่งต่อกันมาจะไม่เลือนหายไปหากมีคนช่วยกันสานต่อ และยังทำให้ชุมชนมีอัตลักษณ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะบ่งบอกความเป็นชุมชนแห่งนี้
อาจกล่าวได้ว่า จังหวัดกระบี่เป็นอีกหนึ่งจังหวัดท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทะเล ถ้ำ ภูเขา น้ำตก หากใครเดินทางมาจังหวัดกระบี่ พร้อมกับจัดทริปท่องเที่ยวให้กับตัวเองไว้แล้ว แนะนำว่าน่าจะหาเวลามาที่เกาะกลาง เป็นโปรแกรมพิเศษที่เพิ่มเติมเข้ามา…แวะนอนเล่นโฮมสเตย์สักคืน สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตเรียบง่าย นั่งสามล้อเที่ยวบนเกาะตกเย็นก็หามุมพระอาทิตย์ตกสวยๆ แล้วเข้านอนแต่หัวค่ำเพื่อตื่นเช้ารับอากาศบริสุทธิ์ ก่อนเดินทางกลับพร้อมประสบการณ์ดีๆ ที่ได้มาชมความงามตามธรรมชาติและเรียนรู้ในวิถีชุมชนแห่งบ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ จังหวัดกระบี่
สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวชุมชนบ้านเกาะกลาง

บังประวัติ
โทร. ๐๘ ๖๙๔๓ ๔๕๗๙

ป้าประจิม
โทร. ๐๘ ๙๘๗๕ ๐๖๙๗

บังสมบูรณ์
โทร. ๐๘ ๑๕๖๙ ๐๒๒๔

คุณสมพงษ์ (บังสัน)
โทร. ๐๘ ๙๕๙๒ ๙๕๘๘
หรือ ซาน๊ะ
โทร. ๐๙ ๑๕๒๘ ๑๕๒๙