Friday, January 24, 2025
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

ตะลุยกินถิ่นบริเตน

นอกหน้าต่างที่สะพานเทียบเครื่องบินสนามบินสุวรรณภูมิ ฉันมองพาหนะจากสายการบินประจำชาติสหราชอาณาจักรตรงหน้าอย่างพอใจ “หน้าตาน่าเอ็นดูเหมือนวาฬเพชรฆาตเลยแฮะ”

          ภายหลังการเดินทางอันอบอุ่นกว่า ๑๓ ชั่วโมง สายการบินวาฬเพชรฆาตจึงร่อนลงแตะพื้นรันเวย์สนามบินฮีทโธรว์ (Heatthrow) อย่างนุ่มนวล เข็มนาฬิกาที่ข้อมือชี้ไปที่เวลา ๑๘ นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่น ยังไม่ค่ำเกินไปนักฉันจึงขึ้นรถไฟใต้ดินไปลงที่สถานีรถไฟใต้ดินรอยัลโอค (Royal olk) ลากกระเป๋าเดินทางก่อกแก่กไปยังบ้านเลขที่ ๓ ถนนแมรี่แลนด์ (Maryland Road)

ฟิช แอนด์ ชิป และ พายไก่

          เช้าวันอากาศขมุกขมัวเป็นวันเที่ยววันแรก ฉันจึงลัดเลาะเส้นทางละแวกบ้านถือเป็นการอุ่นเครื่อง ฝนตกพรำไปตลอดทางสมกับคำร่ำลือ ผ่านสวนริมน้ำที่ได้ชื่อว่าบรรยากาศดีแห่งหนึ่งของลอนดอน คนละแวกนั้นเรียกสวนนี้ว่า “ลิตเติล เวนิช” (little venice) เมื่อผลักประตูเหล็กเตี้ยๆ เข้าไปภาพต้นวิลไลว์ทิ้งกิ่งระย้าละน้ำ และพวกนกเป็ดน้ำที่ลอยคออย่างสบายอารมณ์ทำให้รู้สึกสุขสงบอย่างประหลาด

          ฉันขึ้นรถเมล์สาย ๖ ชมเมืองแบบซิตี้ ทัวร์ ถนนในลอนดอนบางสายค่อนข้างแคบ เนื่องจากเป็นถนนที่ชาวโรมันเคยสร้างไว้เมื่อครั้งเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนแถบนี้ ทางสภาเมืองจึงได้ทำการอนุรักษ์ไว้โดยไม่ได้ขยายเพิ่ม เวลารถเมล์สองชั้นคันใหญ่ขับสวนกันดูน่าหวาดเสียว ชวนให้คิดถึงเด็กแวนซ์แถวบ้านว่าจะกล้าเบียดแทรกไหม

          ลงรถที่บริเวณจตุรัสทราฟัลก้าร์ (Trafalgar square) เช็คอินกับประติมากรรมสิงโตที่ใครไปใครมาเป็นต้องลูบขาพี่สิงห์จนเงาวับ จตุรัสแห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงยุทธนาวีที่ทราฟัลการ์ ที่ซึ่งเป็นชัยชนะของกองทัพเรือหลวงของอังกฤษในสงครามนโปเลียนิก เหนือฝรั่งเศส และ สเปน เมื่อคริสต์ศักราช ๑๘๐๕ ที่หาดของแหลมทราฟัลการ์ จากจตุรัสเดินผ่านสวนเซนต์เจมส์และควีนปาร์กสองข้างทางร่มรื่นด้วยต้นเมเปิ้ล มุ่งหน้าสู่พระราชวังบักกิ้งแฮม ผ่านขบวนสวนสนามที่เหมือนกับภาพบนฝากระป๋องขนมคุ้กกี้ช่วงปีใหม่ไม่มีผิด ที่หน้าพระราชบัคกิ้งแฮมวังนักท่องเที่ยวต่างมาจับจองพื้นที่ชมทหารเปลี่ยนเวรดูยามที่ดูสง่างามและเข้มแข็ง

          กว่าผู้ชมการเปลี่ยนเวรยามจะสลายตัวก็เป็นเวลาบ่ายแล้ว กระเพาะจึงส่งเสียงประท้วง กินข้าวนอกบ้านมื้อแรกต้องไม่พลาดอาหารท้องถิ่น “เดอะ ร้านการ์นีเดียร์” (The Grenadier) อยู่ไม่ไกลจากบริเวณพระราชวังมากนัก ร้านอาหารแห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ศริสต์ศักราช ๑๖๖๕ ภายในร้านตกแต่งด้วยบรรยากาศอบอุ่น บนผนังและเพดานมีธนบัตรจากประเทศต่างๆ ที่ลูกค้าให้เป็นทิป เห็นธนบัตรสีแดงที่คุ้นเคยจากไทยแลนด์พลันก็รู้สึกอุ่นใจ

          เมนูท้องถิ่นที่ต้องห้ามพลาดคือ “ฟิช แอนด์ ชิป” (Fish and Chip) ที่มาของอาหารชนิดนี้เชื่อว่ามาจากชาวยิวที่อพยพเข้ามาในประเทศอังกฤษช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ซึ่งพวกเขาใช้วิธีนำปลามาชุบแป้งแล้วทอด เพื่อให้เก็บได้นานขึ้น เพื่อเตรียมไว้สำหรับวันสะบาโต

          เมื่อชาวอังกฤษได้รับวัฒนธรรมอาหารนี้มา ประกอบกับในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อังกฤษมีชนชั้นแรงงานมากขึ้นทำให้ฟิช แอนด์ ชิป เริ่มได้รับความนิยมจากคนทั่วไป เนื่องจากรับประทานได้สะดวกและราคาถูก จึงกลายเป็นอาหารประจำชาติอังกฤษมาจนถึงปัจุบัน

          ฟิช แอนด์ ชิป ที่ร้านนี้เขาใช้ปลาคอดแล่เป็นชิ้นโตๆ ชุบแป้งแล้วทอดจนเป็นสีเหลืองทอง กรอบนอกนุ่มใน ส่วนมันฝรั่งทอดที่แนมมาด้วยก็เคั้ยวเพลินเกินห้ามใจจริงๆ

          อีกเมนูพื้นบ้านที่น่าลิ้มลองคือ “พาย” สำหรับครั้งนี้ฉันลองสั่งพายไก่มาชิม พายไก่เป็นพายอังกฤษทั่วไปจัดอยู่ในประเภทพายรสเผ็ด คนไทยอย่างเราๆ ที่ค่อนข้างชินกับอาหารรสชาติเผ็ดร้อน พอชิมแล้วก็อาจจะอดคิดไม่ได้ว่า “เอ๊ะ เผ็ดตรงไหน” แต่อย่างไรก็ตามเมนูพายชนิดนี้ถือว่าได้รับความนิยมมากที่สุดจานหนึ่งบริเตนใหญ่เลยเชียว และที่สำคัญที่ร้านใดมีฟิช แอนด์ ชิป ที่นั่นย่อมมีพายไก่เสริฟ เสมือนสองเมนูนี้เป็นคู่หูกัน

          เอาล่ะ เห็นจะต้องลองชิมพายไก่ตรงหน้าดูสักหน่อย แป้งชั้นนอกบางเบาทับซ้อนหลายชั้นอย่างประณีต กรอบฟูโรายงาขาวกลิ่นกรุ่นควันฉุย พระเอกคือเนื้อไก่นุ่มๆ ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำเกรวี่เข้มข้น อร่อยจนยกดาวให้ทั้งฟ้าไปเลย

          หลังมื้ออาหารเที่ยงอันหนักหน่วง ฉันเดินย่อยต่อไปยังบริเวณที่เรียกว่า “เวสต์มินสเตอร์ แอเรีย” (Westminister area) ที่ประกอบไปด้วยหอนาฬิกาบิ๊กเบน (Bigben) โบสถ์เวสต์มินเตอร์ และรัฐสภา อ้อ! ยังมีลอนดอนอายส์ด้วย บัดนี้สถานการณ์โควิดผ่านพ้นไปแล้ว นักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่ เสียงคุณปู่บิ๊กเบนตีบอกเวลา ราวกับกำลังเอ่ยคำพรให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง

          ถ้าแสงอาทิตย์ยังไม่หมดก็คงกลับบ้านไม่ถูก ฉันจึงขึ้นรถไฟใต้ดิน (tube) สายดิสทริค (District) สีเขียวไปลงสถานีเซาท์เคนซิงตัน (Southkensington) เพื่อไปชม “พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต” (Victoria and Albert) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของลอนดอน

          ทางเดินใต้ดินของสถานีรถไฟใต้ดิน (tube) สายดิสทริค (District) สีเขียวไปลงสถานีเซาท์เคนชิงตัน (Southkensington) เพื่อไปชม “พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต” (Victoria and Albert Museum)

         พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของลอนดอน  ทางเดินใต้ดินจากสถานีรถไฟใต้ดินที่เชื่อมต่อไปยังพิพิธภัณฑ์เคยเป็นหลุมหลบภัย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้เข้าชมได้ฟรี ยกเว้นนิทรรศการพิเศษ

          ภายในส่วนจัดแสดงแบ่งออกเป็นโซนทวีป โซนทวีปเอเชียมีโบราณวัตถุจากประเทศอินเดียค่อนข้างมาก อาจเนื่องเพราะเคยตกอยู่ใต้อาณานิคมของประเทศอังกฤษมาก่อน ยังพบโบราณวัตถุจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เกาหลี และไทยด้วย สำหรับโซนยุโรปงานศิลปะที่นำมาจัดแสดงล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากตำนานและศาสนา

หลังออกจากพิพิธภัณฑ์เมื่อเห็นว่าท้องฟ้าก็มืดแล้วความรู้สึกเมื่อยก็มาเยือนโดยอัตโนมัติ รถเมล์สาย ๔๑๔ ที่พากลับที่พักคืนนี้จึงเปรียบดังราชรถทีเดียว

ไส้กรอกเลือด และ เวลส์ เบกสโตน

ไส้กรอกเลือดและอาหารเช้าอื่นๆ

          เช้าวันฝนโปรยทำให้อากาศที่เย็นอยู่แล้วยิ่งเหน็บหนาวกว่าเดิม ฉันเรียกแท็กซี่อูเบอร์ไปยังสถานีรถไฟแพดดิงตัน (Paddington station) โดยมีหมุดหมายอยู่ที่เมืองคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นเวลล์ (Wales) ผู้โดยสารบ้างยืน บ้างนั่ง อยู่หน้าตารางเวลาดิจิตัลซึ่งค่อยๆ เลื่อนลำดับเที่ยวรถขึ้นมา ผู้โดยสารบางคนก็พาหมาขึ้นรถไฟด้วย ระบบขนส่งมวลชนของที่นี่ยอมให้หมาขึ้นได้ แต่ต้องเสียค่าโดยสารเท่ากับคนและห้ามรบกวนผู้โดยสารคนอื่นๆ

          รถไฟวิ่งผ่านหมู่บ้านสลับกับทุ่งหญ้าปศุสัตว์อย่างม้า แกะ และวัว ราวๆ ๑๑ นาฬิกา รถไฟจึงมาถึงเมืองคาร์ดิฟฟ์ ที่จริงระยะทางจากสถานีรถไฟกับตัวเมืองนั้นไม่ไกลกันมากนัก แต่ฝนที่ตกเบาบ้างหนักบ้างทำให้ต้องหาที่หลบอยู่ตลอดทาง อย่ากระนั้นเลยแวะร้านอาหารท้องถิ่นดีกว่า

          ร้านอาหารที่นี่มีกติกาอยู่ว่า หากเวลายังไม่ถึง ๑๒ นาฬิกาจะยังสั่งเมนูอื่นๆ ไม่ได้ สั่งได้แต่เซ็ตอาหารเช้าเท่านั้น ซึ่งวิธีการสั่งให้เลือกชนิดอาหารตามหมายเลข เช่น ๑+๒+๓+๔ เป็นต้น เราคนต่างถิ่นไม่รู้ว่าจะสั่งเมนูอะไร ต้องใช้วิธีสากล คือ ลอกโต๊ะข้างๆ เห็นเมนูที่ทุกโต๊ะเป็นต้องสั่งคือ “ไส้กรอกเลือด” (black pudding) จึงลองสั่งตามบ้าง

          อาหารท้องถิ่นชนิดนี้ทำมาจากเลือดสัตว์ เศษเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ ธัญพืช เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ และเครื่องเทศอย่างยี่หร่า เป็นพื้นฐาน แต่ละบ้านก็จะมีสูตรในการทำแตกต่างกันไป ในช่วงยุคกลางไส้กรอกเลือดจัดเป็นอาหารหลักของชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเลี้ยงปศุสัตว์กันอย่างแพร่หลาย

          เพียงแค่รู้ที่มาก็อดกังวลถึงความคาวไม่ได้ ไส้กรอกเลือดคำแรกจึงลุ้นระทึกไม่น้อย แต่เมื่อกั้นจิ้นยุโรปถูกส่งเข้าปากกลับไม่คาวสักนิด กลับหอมกลิ่นเครื่องเทศอย่างยี่หร่า และมีสัมผัสหนึบหนับจากข้าวสาลี ไม่เลวเลยทีเดียว

          หลังมื้ออาหารหลักก็ต้องเดินย่อยตามธรรมเนียม เพื่อป้องกันการหลงทางฉันจึงยึดถนนสายหลักของเมืองเอาไว้ วันนี้ดูจะเป็นวันออกร้านขายของของเมือง หลายๆ บ้านจึงนำของออกมาขายสู้ฝนกัน บ้างขายขนม บ้างขายเสื้อผ้า บ้างขายของเก่า เจ้าหมาพันธุ์คอกเกอร์ สแปเนียล ๒ ตัว ที่ตามเจ้าของมาด้วยนอนอิงอุ่นกันอยู่บนเก้าอี้ผ้าใบอย่างน่าหมั่นไส้

ภายในสวนบุท ปาร์ค สามาราถมองเห็นส่วนหนึ่งของปราสาทคาร์ดิฟฟ์ได้ด้วย

          ส่วนตัวเราที่หนาวเหน็บเปียกปอนจึงเข้าไปเดินชมตลาดในร่ม อาศัยจังหวะที่ฝนซาเข้าไปชมสวนบุท (Bute park) นี่ถ้าไม่มีฝนมาก่อกวน สวนนี้จะเป็นสถานที่ที่ร่มรื่นน่านั่งเล่น นอนเล่น แถมภายในสวนยังสามารถชะโงกทัวร์ดูปราสาทคาร์ดิฟฟ์ได้ด้วย บนกำแพงปราสาทมีหินสลักรูปเสือดาว แมวน้ำ ลิง กวาง และนกฟิลิแกน บ้างทำท่าปีนป่าย บ้างเกาะอยู่บนกำแพง ไม่รู้ว่าเพื่อประดับ หรือเพื่อข่มขวัญผู้ไม่หวังดีกันแน่ แต่ตอนนี้ทำได้เพียงเก็บความสงสันไว้ในใจ

          คำว่า “ฝนหยุดตก” คงไม่มีในพจนานุกรมของเมืองคาร์ดิฟฟ์ เพราะเห็นจะมีก็แต่ซาลง หรือตกหยุมๆ หยิมๆ ไปตลอดวันเท่านั้นเอง จึงเที่ยวชมสิ่งที่น่าสนใจได้แต่เพียงในร่ม และในสถานการณ์นี้มนต์เสน่ห์ของตลาดก็ดึงดูดฉันเสียอยู่หมัด

          ที่แผงขายปลาเจ้าใหญ่ ไหนดูสิปลาหน้าเหมือนปลาบ้านเราไหม แผงผักสด พืชผักเมืองหนาวที่หน้าตาแปลกๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนก็มี ร้านขายลูกกวาด ร้านขายขนมหวานโดยชาวทูร์เคียก็มี ร้านขายเครื่องเทศโดยชาวอินเดีย คนต่างถิ่นเข้ามาทำงานต่างแดนไม่น้อยทีเดียว

          ที่ร้านขายผลไม้มีลูกพี้ชหน้าตาแปลกๆ เป็นรูปร่างแบนๆ เหมือนเซลล์เม็ดเลือดแดง เจ้าของร้านรีบออกตัวว่านี่ไม่ได้ถูกทับจนแบนนะ นี่เรียกว่า “โดนัท พี้ช” (donut peach) พร้อมกับส่งมาให้ฉันชิมลูกหนึ่ง รสชาติหอมหวานไม่ต่างจากพี้ชทั่วไป ฉันจึงอุดหนุนพ่อค้าใจดีกลับไปอีก ๑ ถุงโตๆ

    เดินลึกเข้าไปในตลาดมีร้านขนมอบอยู่ร้านหนึ่งมีฝรั่งมุงกันมากพอสมควร หนึ่งในฝรั่งมุงให้ข้อมูลว่า นี่คือร้านขาย “เวลส์เค้ก” (Welsh cake) ขนมชนิดนี้จัดเป็นขนมปังหวานแบบดั้งเดิมในแคว้นเวลส์ เป็นที่นิยมตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ และยังเป็นที่รู้จักในชื่อ “กริดเดิ้ล เค้ก” (griddle cake) หรือ “เบกสโตน” (bake stone) เนื่องจากเค้กเหล่านี้มักจะปรุงบนกระทะเหล็กหล่อที่เรียกว่าเบกสโตน

          เวลส์ เค้กทำมาจากแป้ง เนยหรือน้ำมันหมู ลูกเกด ไข่ นม และเครื่องเทศเช่นอบเชยและลูกจันทน์เทศ เสิร์ฟได้ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ปัจจุบันมีการพลิกแพลงเป็นรสชาติต่างๆ มากมาย ทั้งโรยน้ำตาลทราย ทั้งใส่ลูกเกด อัลมอนด์สไลด์ ชอคโกแลตชิป ชอคโกแลตเคลือบน้ำตาล กล่าวกันว่าเวลส์ เค้ก นั้นเป็นต้นกำเนิดของเค้กในปัจจุบัน

          แม้ว่าเวลส์ เค้กจะหน้าตาคล้ายกับขนมสโคน แต่ก็ต่างกันตรงที่เวลส์ เค้ก จะไม่รับประทานคู่กับเครื่องเคียงเยี่ยงสโคน ฉันลองสั่งแบบออริจินัลมาชิมเพื่อความปลอดภัย รสชาติของมันเหมือนกับแป้งอบจืดๆ ทั่วไป และแข็งมาก สมชื่อเล่นเบกสโตนของมัน

หน้าตาของเวลล์ เบกสโตน ที่ปัจจุบันมีการประยุกต์รูปแบบให้หลากหลายเพื่อเพิ่มความน่ารับประทาน
ทางเดินอนุรักษ์ เดิมเป็นทางเข้าหอสมุดของเมืองคาร์ดิฟฟ์ ปัจจุบันหอสมุดได้ปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง และพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็กในชั้นใต้ดิน

   ว่ากันว่าถ้าอยากรู้จักเมืองไหนให้เข้าไปเยี่ยมเยียนพิพิธภัณฑ์ของเมืองนั้น พิพิธภัณฑ์ของเมืองคาร์ดิฟฟ์มีสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ที่สำคัญเข้าฟรีเสียด้วย ฉันได้คำตอบจากที่นี่เองว่าเหล่าประติมากรรมรูปสัตว์บนกำแพงนั้น ที่แท้ก็คือสัตว์ป่าที่พบได้ในคาร์ดิฟฟ์ และที่น่าสนุกคือมีพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็กที่ชั้นล่างด้วย

          ถึงเวลากลับลอนดอน ระหว่างรอรถไฟฉันลองซื้อแคบหมูฝรั่งมาชิม ๒ รส ทั้งแบบออริจินัล และ รสบาร์บีคิว หนังหมูทอดพองๆ กรอบๆ เคี้ยวเพลินดีไม่น้อย นี่ถ้ามีน้ำพริกหนุ่มมาด้วยละก็แจ่มเลย

About the Author

Share:
Tags: เที่ยวไปรักษ์ไป / ท่องเที่ยว / ของกิน / นัทธ์หทัย วนาเฉลิม /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ