เรียบเรียงโดย : ประทุมรัตน์ ประภากรอุทัยกิจ
“บัว” เป็นสิ่งที่อยู่ในประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีถิ่นกำเนิดอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก สามารถสะท้อนความเป็นไปด้านสภาพแวดล้อมในอดีตของแต่ภูมิภาคได้เช่นเดียวกัน โดยฝั่งตะวันตกเราสามารถพบเห็นบัวที่หลากหลายได้ผ่านภาพงานจิตรกรรมชุด Water Lilies ของ โคลด์ โมเนต์ จิตรกรชาวฝรั่งเศสที่เป็นบุคคลสำคัญของศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ ซึ่งในผลงานชุดนี้โมเนต์ได้วาดภาพดอกบัวด้วยสีน้ำมันกว่า 250 ภาพ ในหลากหลายช่วงเวลาจากสวนสไตล์ญี่ปุ่นในบ้านพักของโมเนต์เอง
ในประเทศไทยหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับบัวที่เก่าที่สุดสามารถสืบย้อนได้ เป็นหลักฐานในสมัยสุโขทัยที่มีอายุมากกว่า 650 ปีมาแล้ว พบข้อความในศิลาจารึกเกี่ยวกับการนำบัวมาใช้ตกแต่งพื้นที่ นอกจากนี้มีการกล่าวถึงชื่อบัวอย่างน้อย 7 ชื่อ ทั้งปทุมชาติและอุบลชาติในวรรณกรรมเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” พระราชนิพนธ์โดย พระยาลิไท กษัตริย์ของราชอาณาจักรสุโขทัย เชื่อได้ว่าชื่อบัวทั้ง 7 ที่กล่าวมามีการเจริญเติบโตในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในสมัยนั้น หลังจากสมัยสุโขทัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบัวมักเป็นเรื่องของการบอกต่อรุ่นต่อรุ่น หรือตามบทกลอน เพลงต่าง ๆ และในตำรายาไทยเท่านั้น
ท่ามกลางเมืองที่วุ่นวายเราได้มาพบกับ คุณพราว (น.ต.หญิง ปริมลาภ (วสุวัต) ชูเกียรติมั่น) และสามี คุณคมกฤช ชูเกียรติมั่น ผู้ดูแลปางอุบลที่รับหน้าที่ต่อจากคุณพ่อที่เป็นผู้ก่อตั้งคือ ดร.เสริมลาภ วสุวัต โดยคุณพ่อได้เริ่มสนใจ ศึกษา และสะสมบัวในปี พ.ศ. 2512 บัวรุ่นแรกๆที่นี่ก็ยังเก็บรักษาไว้ และส่วนใหญ่เป็นบัวฝรั่งที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นตาในช่วง 50 ปีที่แล้ว คุณพ่อเก็บสะสมทั้งจากการเดินทาง และได้นำเข้าอย่างต่อเนื่อง ปลูกศึกษา เก็บไว้ ร่วมกับบัวรุ่นผสมปรับปรุงพันธุ์ที่คุณพ่อได้พัฒนาตลอด เป็นการอนุรักษ์ต้นพันธุ์เดิมเพื่อการเปรียบเทียบศึกษา บัวเหล่านี้ทั้งหมดก็ยังคงอยู่ที่ปางอุบล สวนบัว
“จงกลนี บัวที่อาจจะเหลืออยู่ในประเทศไทย
ที่เดียวที่ยังรักษาไว้ได้”
จงกลนีเป็นบัวที่อยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนานก่อนที่จะมีการส่งพันธุ์ออกไปให้ทดลองปลูกในต่างประเทศ จงกลนี้มีชื่อในกลุ่มต้นตำรับยาไทยโบราณด้วยลักษณะเฉพาะทำให้แน่ใจว่าไม่มีการกลายพันธุ์ เพราะ จงกลนี ไม่มีทั้งเกสรเพศผู้และตัวเมล็ดที่ทำให้เกิดการติดเมล็ดแล้วกลายพันธุ์ จงกลนีถือว่าเป็นบัวเก่าก็จริงแต่ทางแวดวงพฤกษศาสตร์ ได้ยอมรับว่าเป็นสปีชีส์ใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2557
“หนึ่งพันธุ์ต่อหนึ่งกระถาง กฎเหล็กในการรักษาพันธุ์บัวไม่ให้กลายพันธุ์ของปางอุบล”
กฎเหล็กในการรักษาบัวไม่ให้กลายพันธุ์ บัวจะมีการขยายพันธุ์ 2 แบบ แบบอาศัยเพศและแบบไม่อาศัยเพศ อาศัยเพศคือการที่เกสรเพศผู้มาจากดอกหนึ่งมาผสมกับเกสรตัวเมียอีกดอกหนึ่งแล้วเกิดการติดฝักขึ้นมา ซึ่งพวกนี้เราถือว่ากลายพันธุ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ และการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ คือ การแตกเหง้าแตกไหล แตกต้นอ่อนจากต้นแม่ หน้าที่หลักของปางอุบลคือต้องระวังไม่ให้บัวนั้นเกิดการกลายพันธุ์จากลูกผสมที่เกิดจากเมล็ด โดยที่ปางอุบลจะเป็นการปลูกหนึ่งพันธุ์ต่อหนึ่งกระถางเพื่อให้สะดวกในการตรวจสอบ รักษาพันธุ์
“บัวบานกลางวันและบัวบานกลางคืนแยกออกได้ง่าย ๆ ด้วยการดูใบบัว”
บัวบานกลางวันและบัวบานกลางคืน สามารถดูได้ง่าย ๆ จากลักษณะของขอบใบ ถ้าลักษณะของขอบใบมีความเป็นจัก หยักแหลม ค่อนข้างเป็นระเบียบ ก็สามารถสันนิฐานได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นบัวบานกลางคืน แต่ถ้าเป็นบัวบานกลางวันลักษณะของขอบใบไม่เป็นจัก หยักแหลม แต่จะมีลักษณะของขอบใบเป็นหยักมนและไม่เป็นระเบียบ หรือมีขอบใบเรียบ
“ความแตกต่างระหว่าง Lotus และ Waterlily ”
โดยคำไทยเราสามารถเรียกว่าบัวก้านแข็งและบัวก้านอ่อน ส่วนคำศัพท์ทางวิชาการจะเรียกว่า ปทุมชาติและอุบลชาติ ปทุมชาติ ก็คือ Lotus จะมีลักษณะก้านใบก้านดอกแข็ง มีตุ่มหนาม สามารถส่งใบชูพ้นน้ำได้สูง ส่วนอุบลชาติ ก็คือ Waterlily ก้านใบจะไม่สามารถส่งใบชูพ้นน้ำ ตัวก้านมีลักษณะอ่อนนิ่ม ไม่มีตุ่มหนาม
เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วบัวพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเขตอบอุ่นหนาว ที่มักเรียกง่ายๆว่า บัวฝรั่ง จะไม่มีสีโทนม่วงฟ้า จนได้มีนักวิชาการปรับปรุงพันธุ์ของไทยที่สามารถผสมบัวฝรั่ง ให้ได้ลูกผสมที่ออกมาเป็นโทนสีฟ้าแกมม่วงได้เป็นคนแรกคือ คุณไพรัตน์ ทรงพานิช จึงทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ของไทยได้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
“ประโยชน์จากบัวที่มีมากกว่าที่คิด”
โดยทุกชาติที่มีบัวหลวงอยู่ในพื้นที่รวมทั้งคนไทย เราก็ได้นำส่วนต่าง ๆ ของบัวมาใช้ประโยชน์อยู่แล้ว เช่น นำรากบัวหลวงนำมาทำอาหาร เมล็ดบัวนำมาทำไส้ขนมเปี๊ยะ บัวสายคนไทยเราก็นำก้านดอก (สายบัว) มาลวกจิ้มน้ำพริก หรือ แกงกะทิสายบัว ต่อมาได้เริ่มมีงานวิจัยนำส่วนประกอบของบัวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น เช่น น้ำหอม สบู่ หรือแม้กระทั่งนำเส้นใยบัวมาทอเป็นผ้าเพื่อทำเป็นผ้าพันคอในภาคเหนือ หรือ นำสีจากส่วนต่าง ๆของบัวบัวมาย้อมด้ายฝ้ายและทอเป็นผ้าใน จ.สกลนคร ที่ปางอุบลเรามีนักวิจัยทางด้านเกษตรนำพันธุ์บัวหลวงทางภาคใต้มาสกัดออกมาเป็นน้ำมันหอมระเหยแล้วนำมาผสมในพิมเสน ซึ่งต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทำได้หลากหลายมากขึ้น และอีกหนึ่งอย่างที่คนมาที่แล้วจังหวะดี ๆ ท่านอาจจะได้ชิม ชาบัวสด เมื่อเข้ามาศึกษาเยี่ยมชมที่ปางอุบล
“อนุรักษ์ตามแบบฉบับของปางอุบล”
ถ้าจะอนุรักษ์พันธุ์บัวก็อย่างที่คุณพราวบอกคืออย่างแรกต้องพยายามไม่ให้บัวกลายพันธุ์เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะ “เราเชื่อว่าทุกคนที่ปลูกเลี้ยงยังไงก็รอด เพราะบัวส่วนใหญ่นั้นแกร่งอยู่แล้ว หากต้องการอนุรักษ์บัวคุณต้องรู้ว่าบัวที่คุณปลูกต้องการอะไร คุณก็ทำให้ตรงกับที่เขาต้องการ อย่าให้อด อย่าให้ถูกแมลงศัตรูพืชรังแก และน้ำอย่าให้เน่า นี่คือสามหลักสำคัญมากสำหรับการอนุรักษ์บัวตามแบบฉบับปางอุบล”
ใน 650 สายพันธุ์ ที่ปางอุบลมีบัวทุกประเภท เช่น บัวหลวง บัวเผื่อน บัวสาย บัวยักษ์ออสเตรเลีย ที่นี่จึงเป็นที่ ๆ หนึ่งที่นักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเกี่ยวกับบัวจะสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ โดยที่ปางอุบล จะเปิดให้ติดต่อนัดหมายเข้าชมได้ระหว่างเวลา 9.00 น. ถึง 15.00 น. และหยุดทุกวันจันทร์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี กรุณานัดหมายล่วงหน้าก่อนเข้าเยี่ยมชม ทาง 091-2956545
Facebook : https://www.facebook.com/Pangubon1969 Website : http://thaiwaterlily.com/