
สารคดีชุด พุทธธรรม พุทธศิลป์ พุทธคุณ ค้ำจุนโลก นิตยสารอนุรักษ์

พิมพ์ใหญ่ (หน้า)
© นิตยสารอนุรักษ์

พิมพ์ใหญ่ (หลัง)
© นิตยสารอนุรักษ์
พระสมเด็จวัดระฆังฯ
สุดยอดพระพิมพ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
กำเนิดพระเนื้อผงพุทธคุณพิมพ์สี่เหลี่ยมที่เรียกว่าพระสมเด็จฯในสยามประเทศเริ่มแต่ครั้งที่พระญาณสังวร (สุก) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี พ.ศ. 2363 ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ในสมัยนั้นสมเด็จพระสังฆราชสุกทรงสร้างพระสมเด็จอรหังเป็นที่ระลึก ส่วนหนึ่งได้บรรจุไว้ในพระเจดีย์ของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ต่อมาในสมัยท่านเจ้าประคุณสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ท่านได้สร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยมตามแบบสมเด็จอาจารย์ในช่วงเวลาที่ท่านได้รับสมณศักดิ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ โดยได้จำลองแบบย่อส่วนมาจากองค์พระประธานภายในพระอุโบสถวัดระฆัง โดยลักษณะงานช่างในแบบอิมเพลสชั่นนิส องค์พระจึงดูโดดเด่น มีซุ้มเรือนแก้วอันเป็นปริมณฑลซึ่งจำลองเอาแบบอย่างมาจากครอบแก้วพระพุทธรูป อันหมายถึงด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยได้กลายเป็นกำแพงแก้วที่คอยป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ถึงแม้ว่าเส้นสายต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นพระสมเด็จฯจะดูเรียบง่ายแต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความงามที่ลงตัวอย่างหาที่ติมิได้เลย สมกับเป็นงานช่างชั้นบรมครูทีเดียว
สำหรับมูลเหตุที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะได้สร้างพระพิมพ์ดังกล่าวนั้นมีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร อันเป็นเมืองหนึ่งที่มีพระพิมพ์ที่งดงามไปด้วยพุทธศิลปะสุโขทัยอันอ่อนช้อย ในครั้งนั้นท่านได้พบพระพิมพ์โบราณที่วัดเสด็จซึ่งเป็นเพียงวัดร้าง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงนำพระพิมพ์เหล่านั้นกลับมาบางส่วนพร้อมทั้งดำริสร้างพระเพื่อสืบทอดพระศาสนาเหมือนดังที่คนโบราณเคยได้กระทำมา เรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุเสด็จพระพาสต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้มีใจความว่า “…เมื่อปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ (พ.ศ. ๒๓๙๒) สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆังขึ้นมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร ได้อ่านศิลาจารึกอักษรไทยโบราณมีอยู่ที่วัดเสด็จได้ความว่า มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่น้ำปิงฝั่งตะวันตกตรงหน้าเมืองข้าม จึงได้ค้นคว้ากันขึ้น พบพระเจดีย์ ๓ องค์นี้ชำรุดทั้ง ๓ องค์ เมื่อพญาตะก่าขอสร้างรวมเป็นองค์เดียว รื้อพระเจดีย์ลงจึงได้พบพระพิมพ์ กับได้ลานเงินจารึกอักษรขอม เป็นตำนานสร้างพระพิมพ์และวิธีบูชา…”

พิมพ์ทรงเจดีย์ (หน้า)
© นิตยสารอนุรักษ์

พิมพ์ทรงเจดีย์ (หลัง)
© นิตยสารอนุรักษ์
วิธีการสร้างพระของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านจะทำผงวิเศษขึ้นมาก่อน โดยนำเอาวัตถุมงคลและอาถรรพ์ต่างๆ มาผสมผสานกับดินสอพองแล้วปั้นเป็นแท่งตากให้แห้ง เรียกว่า “ดินสอเขียนผง” จากนั้นจึงนำเอามาเขียนอักขระเลขยันต์ตามคัมภีร์โบราณบนกระดานครูซึ่งทำจากต้นมะละกอสมุกรัก เสร็จแล้วจึงลบเอาผงมาเป็นส่วนผสมสำคัญสร้างเป็นพระสมเด็จ การทำผงตามตำรับโบราณนี้ มีการพิถีพิถันนับแต่ส่วนผสมอันนำมาทำเป็นแท่งดินสอ โดยมากมักเป็นดินสอพองร่อนละเอียด บางแห่งอาจผสมเครื่องหอมกระแจะจันทน์ และยอดไม้มงคลอย่างรักซ้อน สวาด กาหลง แต่บางคณาจารย์ใช้ดินเหนียวบริสุทธิ์เช่นดินขุยปู หรือดินกลางใจนาขุดลึกสักศอกหนึ่งก็จะได้ดินบริสุทธิ์ ผสมกับสิ่งของอื่น ๆ เช่นเกสรดอกไม้ ไคลเสมา ไคลพระเจดีย์ ดินโป่ง ดอกบัวในปลักควาย เป็นต้น ผสมทำเป็นแท่งดินสอเขียนผงตามแต่เคล็ดของแต่ละสำนัก แต่จากบันทึกของเจ้าคุณพระธรรมถาวร ผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้กล่าวว่า ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จ กวดขันในการปั้นดินสอพองเป็นอันมาก ทั้งนี้ก็เพื่อหวังจะให้บังเกิดความขลังความศักดิ์สิทธิ์ในการเขียนคาถา เพื่อลบเอาผงวิเศษไว้ใช้ในการสร้างพระพิมพ์ ส่วนผสมของแท่งดินสอที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จทำขึ้นนั้นมีหลายชนิด เรียกว่าแท่งดินสอมหาชัย ประกอบด้วย ดินโป่ง ๗ โป่ง ดินตีนท่า ๗ ท่า ดินหลักเมือง ๗ หลัก ขี้ธูปบูชาพระประธานในโบสถ์ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ ใบพลูร่วมใจ พลูสองทาง กระแจะตะนาว น้ำบ่อเจ็ดรส และดินสอพองละเอียด ส่วนผสมทั้งหมดนี้ผสมกันปั้นเป็นแท่งไว้สำหรับเขียนผงตามตำราต่อไป
การทำผงเพื่อสร้างพระสมเด็จนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) ได้ทำผงปถมัง อิทธิเจ ตรีนิสิงเห มหาราช และพุทธคุณ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกผงวิเศษทั้ง ๕ คัมภีร์หรือผงวิเศษ ๕ ประการ ผงแต่ละชนิดนั้นมีพิธีกรรมการลบสูตรสนธิและอานุภาพแตกต่างกันออกไป เมื่อมาผสมอยู่รวมกันแล้วก็จะบังเกิดคุณานุภาพประเสริฐดุจดั่งแก้วสารพัดนึกและด้วยอานุภาพของผงวิเศษเหล่านี้กอปรกับบารมีของผู้สร้างคือท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯทำให้พระสมเด็จวัดระฆังได้รับสมญาจักรพรรดิแห่งพระเครื่อง
ส่วนตัวประสานหรือตัวยึดเกาะนั้น ท่านใช้ น้ำมันตังอิ๊ว น้ำอ้อย น้ำผึ้ง กล้วย และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเยื่อกระดาษที่ได้จากการที่เอากระดาษฟางหรือกระดาษสาลงอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ มาแช่น้ำไว้จนกระดาษละลายเป็นเมือกดีแล้ว จึงนำมากรองเพื่อเอาเยื่อกระดาษมาผสมผสานบดตำลงไป เชื่อกันว่าตัวเยื่อกระดาษนี้เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เนื้อพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามมีความหนึกนุ่ม เนื้อจึงไม่แห้งและกระด้าง

“องค์ร้านตัดเสื้อ” (หน้า)
© นิตยสารอนุรักษ์

“องค์ร้านตัดเสื้อ” (หลัง)
© นิตยสารอนุรักษ์
ด้านแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังนั้น สันนิษฐานว่าพระพิมพ์สมเด็จฯที่สร้างในยุคต้น ๆ นั้นเส้นสายจะค่อนข้างบาง อาจเป็นด้วยความใหม่ต่อการทำแม่พิมพ์งานที่ออกมาจึงดูไม่เรียบร้อย แขนหรือพระหัตถ์ไม่เท่ากันไม่สมดุลโย้เอียงไป ซอกรักแร้สองข้างไม่สมดุลข้างซ้ายลึกกว่าข้างขวา หัวไหล่ไม่เสมอข้างขวามนข้างซ้ายตัดเอียงลงดูไม่สวย หูหรือพระกรรณในแม่พิมพ์มี แต่พอพิมพ์ออกมาแค่ติดรางๆ ฐานสิงห์ชั้นกลาง ฐานไม่คมขาฐานจะติดชัดข้างติดไม่ชัดข้างดูไม่สวยงาม เวลาถอดพระออกจากแม่พิมพ์เอามาตัดแต่งโดยใช้ตอกตัด บางคนตัดแต่งไม่ระวังหรือตัดไม่ชำนาญจะตัดแฉลบเข้าหาซุ้มพระทำให้ไม่ได้รูปดูไม่สวยและเสียหายมาก
การแกะพิมพ์พระชุดใหม่ของท่านโดยหลวงวิจารณ์เจียรนัย เจ้ากรมช่างสิบหมู่ (ช่างสิบหมู่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นจำนวนสิบ แต่สิบตัวนี้เป็นภาษาบาลีความเดิมเขียนว่า สิปปะ ช่างสิปปะตรงกับในสันสกฤตแปลว่า “ศิลปะ” ช่างสิบหมู่คือช่างงานศิลปะ โดยในราชการของหลวงก็ต้องทำของใช้ในส่วนของราชการส่วนพระ ส่วนราชสกุล และบริการแก่ศาสนา กรมช่างสิบหมู่เดิมก็ถูกรวมเป็นกรมศิลปากรแล้วก็มาเป็นกองหัตถศิลป์ใน) จะเพิ่มการตัดขอบพระโดยเพิ่มเส้นบังคับพิมพ์ให้รู้ตำแหน่งการตัด แบบพิมพ์ที่แก้ไขแล้ว เวลาตัดขอบพระมักจะตัดออกมาเป็นแนวสี่เหลี่ยมผืนผ้าได้รูป เส้นสายต่าง ๆ ดูหนาขึ้น บางองค์ปรากฏเส้นสังฆาฏิด้วย โดยมีแม่พิมพ์มาตรฐาน ทั้งหมด ๕ พิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์พระประธาน พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูมและพิมพ์ปรกโพธิ์ ภายหลังเหลือเพียง ๔ พิมพ์แรกเนื่องจากพิมพ์ปรกโพธิ์นั้นพบพระที่ถึงยุคน้อยมาก

พิมพ์ฐานแซม
องค์จ่าศักดิ์
© นิตยสารอนุรักษ์

พิมพ์ฐานแซม
องค์คุณประกาศ
© นิตยสารอนุรักษ์

พิมพ์ฐานแซม
องค์จ่าศักดิ์
© นิตยสารอนุรักษ์

พิมพ์ฐานแซม
องค์คุณประกาศ
© นิตยสารอนุรักษ์
พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามในท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯนั้นเป็นพระที่สร้างแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามแต่โอกาสและเวลาจะอำนวย หาได้สร้างเป็นครั้งเดียวไม่ ที่เชื่ออย่างนี้เพราะพระแต่ละพิมพ์ของท่าน เนื้อหาตลอดจนมวลสารนั้นมีอ่อนแก่กว่ากัน ละเอียดบ้าง หยาบบ้าง สีสันวรรณะก็มีแตกต่างกันไปตั้งแต่ขาวอมเหลืองจนถึงวรรณะน้ำตาลเข้ม
เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านสิ้นใหม่ๆ พระสมเด็จที่ท่านได้สร้างไว้ยังไม่ค่อยมีผู้ใดสนใจ มากนัก “ กล่าวกันว่า ภายหลังเจ้าคุณสมเด็จฯ สิ้นชีพิตักษัย พระสมเด็จที่ท่านเจ้าประคุณได้สร้างเอาไว้ถูกเก็บรักษาในบาตรบ้าง กระบุงบ้าง ตั้งไว้ที่หอสวดมนต์นั้น และได้ขนย้ายเอาไปไว้ที่ในวิหารวัดระฆัง บ้างว่าเอาไว้ที่บนเพดานวิหารก็มี ในสมัยนั้นใครใคร่หยิบก็หยิบกันไป จนกระทั่งก่อนจะมีอหิวาตกโรคระบาดใหญ่ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ วันหนึ่งมีคนชาวอ่างทอง ป่วยเป็นอหิวาตกโรค จนอาการเป็นตายเท่ากัน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปเข้าฝัน บอกว่ายังไม่ถึงที่ตาย ให้รีบไปวัดระฆังไปเอาพระสมเด็จที่เก็บไว้ในวิหารน้อยเอามาอธิษฐานทำน้ำมนต์กินก็จะหาย ญาติ ๆ จึงรีบพายเรือมาที่วัดระฆัง แล้วนำเอาพระสมเด็จที่วิหารน้อยไปทำน้ำมนต์ให้คนป่วยกินจนหายป่วย เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดประชาชนมุ่งหน้าสู่วัดระฆัง เพื่อขอพระสมเด็จไปทำน้ำมนต์ให้คนป่วยกิน พระสมเด็จที่มีอยู่เริ่มหมดลง มีหลายคนเก็บไว้จำนวนมากอยู่ และได้นำมาขายในราคาองค์ละ ๓ – ๕ ตำลึง (๑๒-๑๕ บาทซึ่งนับว่ามีราคาที่สูงมาก เนื่องจากทองคำบาทละไม่เกินสิบบาทในสมัยนั้น)