นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 27
เรื่อง: ผศ.ประเทือง ครองอภิรดี
ภาพ : นพพร ยรรยง
ย่านคลองสานฝั่งธนบุรีต้องนับว่าเป็นย่าน “ทำเลวัดทอง” เพราะมีวัดที่ขึ้นชื่อเป็นทองถึง ๔ วัด ได้แก่ วัดทองนพคุณ วัดทองธรรมชาติ วัดทองเพลง และวัดสุวรรณ ตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก
แต่ที่ใกล้กันและคู่กันที่สุดก็คือ วัดทองธรรมชาติ (หรือวัดทองบน) และวัดทองนพคุณ (หรือวัดทองล่าง) ที่ว่าบนหรือล่างนั้น เอาสายน้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก อยู่ทางเหนือสายน้ำเรียกบน วัดทองนพคุณอยู่ใต้สายน้ำจึงเรียกว่า วัดทองล่าง
วัดทองล่างเป็นชื่อเดิมเก่าแก่ สร้างมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ใครจะเป็นผู้สร้างก็เก่าเกินจะสืบรู้และไม่มีบันทึก รู้แต่ว่าเป็นวัดราษฎร์ คือสร้างโดยชาวบ้าน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๓ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) เป็นผู้บูรณะแล้วถวายเป็นวัดหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดทองนพคุณ” ให้คู่กับวัดทองบนที่ทรงบูรณะใหม่ และได้รับได้รับพระราชทานนามว่า “วัดทองธรรมชาติ” ซึ่งมีความหมายเดียวกัน แปลว่า ทองเนื้อแท้บริสุทธิ์ นั่นเอง
อันที่จริงคำว่า “นพคุณ” ในแง่พระพุทธศาสนายังมีความหมายดีและพ้องกับ “นวหรคุณ” หรือคุณธรรมอันประเสริฐ ๙ ประการของพระพุทธเจ้า ตามคำสวดสรรเสริญพระพุทธคุณในบทอิติปิโสด้วย
คือเริ่มตั้งแต่ ๑. อะระหัง (เป็นผู้ไกลจากกิเลส) ๒. สัมมาสัมพุทโธ (เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง) …ระเรื่อยไปจนถึง ๙. ภะคะวาติ (เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้) นั่นเอง
พระอุโบสถที่เห็นในปัจจุบันคืออาคารที่ได้รับการบูรณะใหม่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีความแปลกตาจากที่อื่นตรงที่เจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปมนรีแบบตาลปัตร หรือ พัดหน้านาง (รูปมนคล้ายหน้าสตรี) แล้วแต่งลวดลายกรอบนอกให้ดูเป็นพัดยศ แบบพัดพุดตานของพระครูสัญญาบัตร และพัดเปรียญ และพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ของพระราชาคณะ หน้าต่างบานกลางเป็นซุ้มมณฑป ทางเข้าโบสถ์ด้านหน้าทำเป็นซุ้มหลังคาจั่วสองซุ้มซ้ายขวา ใบเสมารอบโบสถ์ ดูแต่ไกลจะเห็นเป็นเสา มียอดบัวตูม ต่อเมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นว่ามีช่องเจาะ มองเห็นใบเสมาหินที่ซ่อนอยู่ภายใน เสาที่เห็นนั้นก็คือซุ้มใบเสมาที่ทำรูปทรงแปลกออกไปนั่นเอง
จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ก็ทำแตกต่างจากวัดอื่น ด้านหลังพระประธานเขียนเป็นม่านแหวกออก ชายม่านทั้งสองข้างถูกเลิกขึ้น เห็นหมู่เทวดาเหาะมาไหว้พระประธานสวยงามมาก
ผนังด้านข้างทั้งสองตั้งแต่ขอบหน้าต่างล่างขึ้นมาแบ่งเป็นจิตรกรรม ๓ แถบ ล่างสุดเป็นแถบเทวดานางฟ้าบนสวรรค์ชั้นต่างๆ เหาะถือดอกบัวมาไหว้พระประธานด้วยท่าทางอิสระของตน (ผิดกับภาพเทพชุมนุมของวัดทั่วไป ซึ่งมักจะนั่งพนมมือ เป็นระเบียบเรียงอยู่ตอนบนของผนัง) ถัดจากแถบเทพสวรรค์ขึ้นไป เขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ตอนบนสุดของผนังเป็นพื้นขาวเขียนรูปฉัตร ๓ ชั้นเรียงๆ กันไป ช่องว่างระหว่างฉัตรเขียนเป็นรูปฝูงนกบินซึ่งซ่อนนิทานธรรมะเรื่อง ลิงอยากบินเหมือนนก นกสอนให้ลิงทำปีกด้วยขนนก ยึดกันไว้ด้วยขี้ผึ้ง โดยให้บินอยู่ใต้ปีกนกเพื่อจะช่วยบังแดดให้ พอลิงบินได้ปีกกล้าขาแข็งแล้วก็เหลิงไม่ยอมบินใต้ปีกนกอีก จึงถูกแดดเผาปีกขี้ผึ้งละลายจนตกลงมาตาย นิทานเรื่องนี้สอนเรื่องความอกตัญญู รู้สึกว่ามาจากชาดกอะไรสักเรื่องหนึ่ง